ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 136 คน ยอดสะสม 1,524 ราย

ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 136 คน ยอดสะสม 1,524 ราย

สรุปรายงานสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่มขึ้น 136 คน ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย เสียชีวิต 2 ราย

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 63 นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 16 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 71 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 2 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 10 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 59 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 59 ราย เป็น กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 21 ราย กลุ่มผู้ทำงาน,อาศัย ในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 15 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย กลุ่มที่ไปสถานที่แออัด 3 ราย กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ 4 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 14 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 6 ราย

ได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย รายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 54 ปี มีประวัติเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลยะลา รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีภาวะปอดอักเสบ เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจำนวน 23 ราย อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,388 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย

158554335981

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด มากสุดที่กรุงเทพฯ 80 ราย รองลงมา คือเชียงใหม่ 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรีและนครสวรรค์จังหวัดละ 3 ราย เป็นต้น ซึ่งยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ ทั้งรถแท็กซี่ , รถเมล์, รถบัส, รถตู้, รถไฟฟ้า, เรือ, เครื่องบิน อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ คนขับ ผู้โดยสาร พนักงานอื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทาง เพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ อาบน้ำทันทีเมื่อกลับเข้าบ้าน และเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว

ในส่วนผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและพนักงาน ต้องทำความสะอาดยานพาหนะอย่างสม่ำเสมอ เปิดประตูหน้าต่าง ระบายอากาศ และหลังรับผู้โดยสารที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ให้สวมถุงมือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เน้นพื้นผิวที่ประชาชนสัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู เบาะรถ ที่พักแขน เป็นต้น