‘จิตรลดา’ กับ 9 แรงจูงใจ ‘ทำไมต้องฆ่า’

‘จิตรลดา’ กับ 9 แรงจูงใจ ‘ทำไมต้องฆ่า’

เปิด 9 ปริศนาทางจิตวิทยาเปลี่ยน “จิตรลดา” ให้กลายเป็นฆาตกร “โรคจิต” ในสายตาสังคม

เหตุทำร้ายเด็ก 4 ขวบจนเสียชีวิตใน จ.นครปฐมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาทำให้คำค้น จิตรลดา กลายเป็นที่สนใจ และเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจาก ผู้ก่อเหตุเป็นคนๆ เดียวกันกับผู้ก่อเหตุที่ทำร้ายเด็กนักเรียนโรงเรียนดังย่านสีลมจนทำให้เด็กบาดเจ็บ 4 ราย เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548
โดย สำหรับ จิตรลดา คนนั้นเป็นผู้ป่วยทางจิต มีอาการทางประสาท เพิ่งออกจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พุทธมณฑลสาย 4 ได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากถูกส่งตัวไปเข้ารับการรักษาแล้วเพิ่งกลับมาพักที่บ้าน 
หากย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2548 ผู้ก่อเหตุเคยใช้อาวุธมีดทำร้ายเด็กนักเรียนหญิง 4 คน จนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 8 ปี ในความผิดฐานพยายามฆ่า แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 4 ปี
โดย จิตรลดา ได้รับการพิสูจน์ว่ามีอาการป่วยโรคจิตเภทเรื้อรังมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ศาลจึงเห็นว่าหลังจากจำเลยรับโทษจำคุกครบ 4 ปีแล้ว ให้ส่งตัวไปบำบัดอาการป่วยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ให้หายเป็นปกติ และเมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วทางสถาบันจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่คำถามถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งสามารถเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายมาเป็น “ฆาตรกร” ได้

ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการ ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เคยแยกปัจจัยที่นำไปสู่การลงมือฆ่าซึ่งสัมพันธ์กันระหว่าง กาย ใจ อารมณ์ และสังคมไว้ 9 ลักษณะได้แก่

  • ความแค้น
  • แผลใจ (Trauma) หรือ ภาวะสะเทือนขวัญ
  • ภูมิหลังของบุคลิกภาพ (Sociopathic)
  • การฆ่าโดยหน้าที่
  • โรคจิต
  • พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อ
  • ลัทธิ
  • ตระหนกตกใจ (Panic)
  • อำนาจและผลประโยชน์

“อย่างการเกิดทรอมาขึ้นกับคนเราจะเกิดผลที่ตามมา 3 อย่างคือ โถมใส่ (ต่อสู้) ถอยหนี หรือนิ่งชั่วขณะ สมมติว่า เขาอยู่ในช่วงของวัยรุ่นพอโตขึ้นมาความแค้นมันระเบิดก็ไปฆ่าคนอื่น หรือพวกอาฆาตสังคมที่ถูกทำร้ายจากสังคม ซึ่งมีทั้งสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิต อย่างภัยธรรมชาติ ฝรั่งจะเจอบ่อย หิมะถล่ม เมื่อเขาจะถูกฆ่าฉะนั้นเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด หรือสังคมทอดทิ้งเขา เขาลำบากยากจนก็ไม่สนใจเขา คิดว่าโลกนี้โหดร้าย เขาจึงต้องการทำลายสังคม ไม่เกี่ยวกับจิตสำนึกที่เจาะจงว่าเป็นใครแล้ว ไม่เกี่ยวกับจิตไร้สำนึกที่มีตัวตนแต่จำไม่ได้ แต่นี่คือมันมั่วไปหมด เป็นใครก็ได้ ก็เป็นมือปืนอาชีพ รับจ้างฆ่า ทำร้ายได้หมด ไม่รู้สึกถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ” ดร.วัลลภตั้งข้อสังเกต

ขณะที่คำอธิบายใจฝั่งตำรวจกองปราบปราม ได้แยกประเภทแรงจูงใจตามหลักอาชญวิทยาในการก่อเหตุฆาตกรรมในมุมมองที่ต่างออกไป โดยตำรวจ แบ่งคนร้ายเกี่ยวกับการฆาตกรรมออกเป็น 4 กลุ่ม

  • กลุ่มแรก คือ ฆาตรกรธรรมดา (Murderer) ฆาตรกรธรรมดาจะฆ่าคนด้วยสาเหตุพื้นฐาน
  • กลุ่มที่สอง คือ ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) กลุ่มนี้เป็นความผิดปกติทางจิต จิตใต้สำนึก
  • กลุ่มที่สาม คือ การฆ่าแบบบันเทิงใจ ความผิดปกติทางอารมณ์ (spree killer) โดยเรื่องนี้การศึกษายังไม่เป็นวงกว้างมากนัก
  • กลุ่มที่สี่ คือ ฆาตกรรมหมู่ (Mass Murder)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เกิดการประทุษร้ายจนถึงชีวิตจะมีหลายสาเหตุ แต่ทั้งหมดล้วนเป็น ‘ผลกระทบ’ ที่เข้าไป ‘ทำลาย’ และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ความสูญเสียทั้งตัวตน ร่างกาย และจิตใจอันนำไปสู่พฤติกรรมการทำลายล้างของคนๆ นั้นในที่สุดนั่นเอง

ตัว จิตรลดา เอง และผู้ก่อเหตุรายอื่นๆ ก็อาจจะอยู่ในมูลเหตุสมมติฐานนี้ได้เช่นเดียวกัน