ผ่าทางรอดวิกฤติ 'การบินไทย' เปิดแผน 'ดาวน์ไซส์' ลดพนักงาน-ลดลงทุนบริษัทลูก

ผ่าทางรอดวิกฤติ 'การบินไทย' เปิดแผน 'ดาวน์ไซส์' ลดพนักงาน-ลดลงทุนบริษัทลูก

“จักรกฤศฏิ์” ลั่นพยุงบินไทยพ้นวิกฤติโควิด รักษากระแสเงินสด เตรียมแผนดาวน์ไซส์ ลดพนักงาน ลดเงินเดือน ลดลงทุนบริษัทลูก เพิ่มรายได้คาร์โก้ ครัวการบิน

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จะหยุดบินครบทุกเส้นทางในวันที่ 1 เม.ย.นี้ หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่การลาออกของนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ที่จะมีผลวันที่ 11 เม.ย.นี้ ถูกแทนที่ด้วยการแต่งตั้งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คือ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย เข้ามาทำหน้าที่นี้ทันที

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้การบินไทยกำลังใช้โอกาสที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโควิด–19 ส่งผลให้ต้องหยุดทำการบินหลายเส้นทาง เพื่อประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำแผนฟื้นฟูองค์กรให้สอดรับกับสถานการณ์ขณะนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือภายใน มิ.ย.นี้

“ผมเข้ามารับตำแหน่งได้ 3 วัน แผนฟื้นฟูที่ดีดีคนก่อนดำเนินการไว้ ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม ดังนั้นเราจึงนำมาปรับ นำมาต่อยอดให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ ในแบบที่ผมคิดว่าควรจะดำเนินการอย่างด่วน คือ การลดค่าใช้จ่าย และหารายได้ทุกช่องทาง”

ขณะเดียวกัน การปรับลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้ได้หารือร่วมกับพนักงานทุกภาคส่วนแล้ว พบว่าพร้อมให้ความร่วมมือปรับลดรายได้ที่เคยรับ โดยจะแบ่งเป็น 1.พนักงานระดับสูงจะปรับลดรายได้ค่อนข้างเยอะ 2.พนักงานระดับกลาง–ล่าง จะปรับลดรายได้เล็กน้อยเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ

ส่วนแผนเพิ่มรายได้ ขณะนี้มองว่าการบินไทยจะต้องพิจารณาทุกช่องทางที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร นอกเหนือจากการขายตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมแล้ว โดยจะต้องเพิ่มการขายสินค้าส่วนอื่น อีกทั้งจะต้องขายตั๋วผ่านทุกช่องทางที่ดำเนินการได้ และสอดรับกับความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันก็พบว่าแม้จะเกิดช่วงโควิด-19 แต่รายได้จากการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ยังมีอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่การบินไทยควรหารายได้เพิ่ม

158555622251

จ่อชงคลังเคาะแผนฟื้นฟูใหม่

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังการปรับแผนฟื้นฟูองค์กรแล้วเสร็จ ซึ่งได้วางไว้ไม่เกินระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ ก็จะนำเสนอแผนดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งเบื้องต้นได้หารือแล้วว่า กระทรวงการคลังพร้อมเพิ่มทุน หรือสนับสนุนเงินกู้ หากแผนดำเนินงานของการบินไทยชัดเจน

“ตอนนี้อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นการฟื้นฟูองค์กรของการบินไทย จะเป็นไปได้ด้วยดี กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนเต็มที่ หากแผนของเราเสร็จและมีแนวทางชัดเจน ดังนั้นถ้าโควิดจบเร็ว ส่วนตัวผมมั่นใจว่าเราจะฟื้นตัวเร็วเช่นเดียวกัน”

ส่วนประเด็นของการควบรวมสายการบินระหว่างการบินไทย กับไทยสมายล์ ให้เป็นสายการบินเดียวกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้น ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันการบินไทยและไทยสมายล์ถือเป็นบริษัทเดียวกันอยู่แล้ว เนื่องจากไทยสมายล์เป็นบริษัทลูกที่การบินไทยถือหุ้น 100% อีกทั้งปัจจุบันไทยสมายล์ยังขายตั๋วระบบเดียวกันกับการบินไทย ส่งผลให้ลดต้นทุนดำเนินงานได้

เล็งพิจารณา“ดาวน์ไซส์”บริษัทลูก

นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า การบินไทยกำลังพิจารณาปรับโครงสร้างภายในเพื่อทบทวนการลงทุนในส่วนของธุรกิจย่อยหรือบริษัทลูก หากพบว่าธุรกิจใดสร้างกำไรดี ก็ควรได้รับการพิจารณาขยายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม แต่หากพบว่าธุรกิจใดไม่สร้างรายได้ให้การบินไทย ก็ควรพิจารณาลดขนาดให้เล็กลง หรือ Downsize

ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยมีธุรกิจย่อยและบริษัทลูกที่ถือหุ้น อาทิ 1.สายการบินนกแอร์ ถือหุ้นให้สัดส่วน 13.28% 2.บริษัทไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด ถือหุ้น 55% 3.บริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ถือหุ้น 49% 4.บริษัททัวร์เอื้องหลวง จำกัด ถือหุ้น 49% 

5.บริษัทดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต โฮเต็ล จำกัด ถือหุ้น 40% 6.บริษัทครัวการบินภูเก็ต จำกัด ถือหุ้น 30% 7.บริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด ถือหุ้น 30% 8.บริษัทโรงแรม รอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 24% และ 9.บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 22.59% เป็นต้น

หนุน พนง.สมัครใจลาออก

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หารือกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย และนายจักรกฤศฎิ์ เพื่อรับมือผลกระทบดังกล่าวมี 8 แนวทาง คือ 

1.การรักษาสภาพกระแสเงินสด เพราะไม่มีรายได้จากการบินในเชิงพาณิชย์จากมาตรการปิดน่านฟ้าเพื่อระงับการระบาดในหลายประเทศ โดยต้องปรับวิธีการหารายได้จากทางอื่น เช่นการรับส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) และครัวการบินไทยให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (เดลิเวอรี่) รวมถึงการลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดเงินเดือนพนักงาน หยุดจ่ายโอที ซึ่งขณะนี้ลดได้ไม่น้อยกว่า 30% และเจรจาขอผัดผ่อนจ่ายเงินให้กับลิสซิ่ง ซึ่งขณะนี้เจรจาผัดผ่อนเวลาได้ 3-5 เดือน

2.ทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.การลดขนาดองค์กรโดยลดจำนวนพนักงานลง เน้นวิธีการปรับลดโดยสมัครใจ

4.การปรับลดประเภทของเครื่องบิน ลดจำนวนช่างซ่อมบำรุง ลดการสต๊อกอะไหล่เครื่องบิน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 

5.การปรับลดกระบวนการทำงานภายในองค์กร เพราะองค์กรเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจมีระเบียบข้อบังคับที่ทำให้ล่าช้าในการบริหารจัดการ

6.ปรับกระบวนการด้านรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และบริหารด้านการตลาดในเชิงรุกให้มีผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งลดการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ที่มีการล็อคราคาตั๋วโดยสาร ทำให้การบินไทยไม่สามารถปรับราคาค่าตั๋วโดยสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ โดยให้การบินไทยขายตั๋วให้ผู้โดยสารโดยตรงผ่านช่องทางอื่นมากขึ้น เช่น ออนไลน์

7.หารายได้เพิ่มในช่องทางการให้บริการจองที่พักและการจองทัวร์ 

8.ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ซึ่งได้เรียกกลับประเทศหมดภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้

นอกจากนี้ นายถาวรมีข้อเสนอให้การบินไทยรับไปพิจารณา 7 แนวทาง คือ 1.การตั้งศูนย์ปฏิบัติการ THAI Operations Control Centre (TOCC) 

2.ศึกษาแนวทางตั้งบริษัทลูก ธุรกิจอาหารหรือส่วนอื่นให้หารายได้รวดเร็วขึ้น

3.หารายได้เพิ่มจากฝ่ายช่าง เช่น เปิดศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินทั่วไป 

4.การหารายได้เพิ่มเติมจากฝ่ายวางแผนการบิน เพื่อให้เครื่องบินประหยัดน้ำมัน 

5.การบริหารจัดการสินทรัพย์การบินไทย ซึ่งเดิมมี 200,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือ 100,000 ล้านบาท

6.ขอลดค่าใช้จ่ายจอดเครื่องบินระยะยาว (Aircraft long Term Parking) 

7.การคำนวณกำไรขาดทุนต้องคำนวณทุกเป็นรายเที่ยว รายเดือนและรายไตรมาส เพื่อให้ทราบผลประกอบการที่ชัดเจนมาวิเคราะห์แผนธุรกิจ

รวมทั้ง นายถาวรกำหนดให้มีความโปร่งใสการใช้งบและการบริหาร ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อมูลในเชิงลึก และถ้ามีข้อมูลที่ส่อว่าทุจริตจะดำเนินการตามกระบวนการถึงที่สุด