โควิด-19 ลดมลพิษทางอากาศ? I Green Pulse

โควิด-19 ลดมลพิษทางอากาศ? I Green Pulse

แม้การลดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมลพิษทางอากาศจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายๆ พื้นที่ของโลกอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งทำให้ค่าของมลพิษทางอากาศที่สำคัญบางตัว

อาทิ ไนโตรเจนไดออกไซด์หรือแม้กระทั่งคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านมลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนหลายแห่งกล่าวว่า มันยังเร็วไปที่จะสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นช่วยลดมลพิษทางอากาศเหล่านั้นไ้ด้จริงและระยะยาวอย่างที่ต้องการจะเห็น

ล่าสุดองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (European Environment Agency) ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์สภาพอากาศของยุโรปล่าสุดหลังจากมีการลดลงของกิจกรรมหลายชนิดที่เคยก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในยุโรปขณะนี้ว่า จากการมอนิเตอร์มลพิษทางอากาศต่างๆจากสถานีตรวจวัดกว่า 3,000 สถานีทั่วยุโรป พบว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้ลดลงเกือบครึ่งในบางพื้นที่จริงโดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองที่การจราจรลดลง

แต่อย่างไรก็ตาม EEA กล่าวว่าการที่จะระบุแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ในระยะยาวก็ยังจำเป็นต้องมีนโยบายที่ทะเยอทะยานและการลงทุนที่มองการณ์ไกลกว่าที่เป็นอยู่มากอยู่ดี

นายฮานส์ บรูนนินกส์ ผู้อำนวยการบริหารของ EEA กล่าวว่า นั่นแปลว่าวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและผลกระทบหลายด้านของมันสวนทางกับสิ่งที่เราต้องการไปถึงนั่นคือการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบไปสู่สังคมที่ยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกัน

จากข้อมูลของ EEA พบว่า เพียงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรในเมืองของหลายๆเมืองในอิตาลีลดลง อาทิเช่น ที่มิลาน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นลอมบาร์ดี้ที่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสมากที่สุดของอิตาลีในเวลานี้ พบว่า ก๊าซไนโตรเจนได้ออกไซด์ที่สะสมในชั้นบรรยากาศในช่วงเดือนที่ผ่านมาลดลงถึงกว่า 24% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 

หรืออย่างเมืองเบอร์กาโม่ที่อยู่ในแคว้นเดียวกันก็พบว่าก๊าซชนิดเดียวกันลดลงเช่นกัน โดน EEA ได้หยิบตัวเลขล่าสุดที่วัดในช่วงอาทิตย์ที่ 16-22 มีนาคม เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วดู ก็พบว่ามีปริมาณสะสมในอากาศน้อยกว่าถึง 47% เป็นต้น และแนวโน้มดังกล่าวสามารถพบได้ในเมืองอื่นๆของยุโรปเช่นกันเมื่อมีมาตรการล็อคดาวน์ให้คนอยู่กับบ้าน EEA ระบุ

EEA กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเช่นนี้ เป็นที่รู้กันว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจและมะเร็งได้ในระยะยาวและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างออกมาเตือนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนามากกว่าคนอื่น แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนว่าการสัมผัสมลพิษเหล่านี้ส่งผลต่อการติดเชื้ออย่างไรและจำเป็นที่จะต้องมีงานวิจัยที่ช่วยระบุมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม EEA กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแม้จะมีปริมาณที่ลดลงไปบ้างก็ตาม โดยทุกๆปีมีประชากรในยุโรปถึงราว 400,000 คนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดบ้อมที่มีต่อสุขภาพมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะประชากรส่วนใหญ่ของยุโรปต่างอาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลพิษนั่นเอง EEA ระบุ

158545583379

นอกจากที่ยุโรปแล้ว หนังสือพิมพ์อังกฤษเดอะการ์เดี้ยนได้รายงานถึงสถานการณ์คล้ายกันที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆของโลกรวมทั้งจีนซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่เกิดการระบาด

โดยเดอะการ์เดี้ยนได้รายงานเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า การปิดกิจกรรมประเภทโรงงานอุตสาหกรรมก็ส่งผลต่อการลดลงของมลพิษทางอากาศนี้เช่นกัน โดยสถานการณ์ดังกล่าวสามารถเห็นได้ชัดที่ประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นการลดลงของมลพิษทางอากาศครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของเมืองหลังจากถูกล็อคดาวน์มาตั้งแต่เดือนมกราคม

จากข้อมูลขององค์การนาซ่า ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในภาคตะวันออกและภาคกลางของจีน สามารถเห็นได้ว่าลดลงถึง10-30%จากระดับปกติ

พอล มองค์ ศาสตราจารย์ด้านมลพิษทางอากาศจากมหาวิทยาลัยเลเชสเตอร์ในประเทศอังกฤษได้กล่าวกับเดอะการ์เดี้ยนว่า มันมีบทเรียนที่สำคัญที่ควรเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น

ศาสตราจารย์มองค์กล่าวว่า มันเหมือนกับเรากำลังทำการทดลองทางมลพิษทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาอยู่ตอนนี้

“มันไม่ใช่หรือว่าเรากำลังมองเห็นอนาคตที่เรามุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ? ไม่ได้จะพูดกระทบถึงความสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้นนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังบอกเราถึงความหวังในสิ่งที่เลวร้ายที่เราเผชิญอยู่ได้ทำให้เราเห็นสิ่งที่เราสามารถทำให้สำเร็จได้” ศาสตราจารย์มองค์กล่าว

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ได้ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้คล้ายๆกันและยังเตือนให้ตระหนักว่าการลดลงของมลพิษทางอากาศในบางท้องถิ่นเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และการแก้ไขปัญหาระยะยาวยังต้องการการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ดีโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดย WMO ระบุว่า ความพยายามที่จะควบคุมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 ส่งผลดีค่อคุณภาพของอากาศก็จริง แต่มันก็ยังเร็วเกินไปที่จะระบุถึงผลลัพธ์เชิงบวกต่อปัญหา โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกที่สร้างปัญหาโลกร้อนที่เรื้อรังให้แก่โลก

ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของสถานีตรวจวัดของ WMO พบว่าระดับของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโดยเฉลี่ยของปีนี้ก็ยังสูงกว่าปีที่แล้ว อาทิ คาร์บอนในชั้นบรรยากาศที่วัดในเดือนกุมภาพันธํที่สถานีมัวนาลัวในฮาวายก็ยังแสดงค่าสูงขึ้นมากว่าปีที่แล้วในเดือนเดียวกันคือ 414.11 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) เมื่อเทียบกับของปีที่แล้วที่อยู่ที่ประมาณ 411

WMO ระบุว่า การปล่อยหรือลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศ (emissions) เป็นคนละเรื่องกับความหนาแน่นของก๊าซในชั้นบรรยากาศ (concentrations) และนั่นแปลว่าโลกยังมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าจะมีการลดลงของการปล่อยก๊าซมลพิษในช่วงเวลาการระบาดของไวรัสโคโรนา

การตัดยอดก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยำ่แย่อันเนื่องมาจากโรคระบาดไม่สามารถเทียบได้กับการลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง WMO สรุป

“ถึงเวลาที่เราน่าจะมาช่วยกันคิดถึงระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการปรับตัวสู่การธุรกิจและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ

“ประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต่างบอกเรามาตลอดว่า หลังจากที่มันคลี่คลายลง ก๊าซที่เคยลดลงจะกลับมาพุ่งพรวดอยู่เสมอ เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิถีนั้นเสีย แล้วมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนให้ได้เหมือนไวรัสโคโรนา มิฉะนั้น เราอาจพบกับความสูญเสียมากกว่านี้อีกมาก ถ้าเราไม่สามารถทำได้สำเร็จ” เลขาธิการ WMO นายเพตเทอรี่ ทาลาสกล่าว

ภาพ/ EEA/ NASA