'หน้ากากอนามัย' สวม-ไม่สวมแบบไหนปลอดภัยกว่า?

'หน้ากากอนามัย' สวม-ไม่สวมแบบไหนปลอดภัยกว่า?

ยังเถียงกันไม่จบ สำหรับประเด็น "การใส่หน้ากากอนามัย" ที่แต่ละประเทศก็มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไป แล้วสรุปใส่หรือไม่ใส่ดีกว่ากัน?

หากคุณออกจากบ้านโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยในฮ่องกง กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หรือที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คุณอาจจะถูกมองด้วยสายตาตำหนิ เพราะตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ผู้คนบางเมืองก็ยินดีที่จะใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเต็มรูปแบบ ส่วนคนที่ไม่ใส่ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกนอกสังคม

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศของโลกไล่ตั้งแต่อังกฤษ สหรัฐ สิงคโปร์ ไปจนถึงนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย การไปไหนมาไหนโดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยกลับยังคงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

..ทำไมบางประเทศถึงยอมรับเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่อีกหลายประเทศไม่ยอมรับ?

นี่ไม่เกี่ยวกับมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลหรือคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่การสวมหน้ากากอนามัย หรือไม่สวม โยงใยถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ด้วย และเมื่อการระบาดแย่ลงเรื่อยๆ พฤติกรรมนี้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ออกคำแนะนำที่ชัดเจนว่า มีคน 2 ประเภทที่ควรสวมหน้ากากอนามัย คือ 1 คนป่วยและคนที่แสดงอาการป่วย และ 2 กลุ่มคนที่ต้องดูแลผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ส่วนคนอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และก็มีเหตุผลที่อธิบายเรื่องนี้อยู่

หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ แนวคิดที่ว่า หน้ากากอนามัยไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อมากนัก เมื่อเทียบกับการล้างมือบ่อยๆ โดยรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ไวรัสแพร่ทางละอองฝอย ไม่ใช่ลอยในอากาศ เพราะฉะนั้นการถอดหน้ากากอนามัยออกต้องระมัดระวังไม่ให้โดนมือที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัสได้

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศของเอเชีย ผู้คนต่างสวมหน้ากากอนามัย เพราะเชื่อว่าสวมแล้วปลอดภัยต่อการติดเชื้อมากกว่า โดยเฉพาะในจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย และไต้หวัน มีความเชื่อกันว่าใครก็สามารถเป็นพาหะโรคได้ แม้แต่คนที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปกป้องตัวเองจากผู้อื่น และนี่เป็นเหตุผลให้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ ขอร้องให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย

ในประเทศจีน คนที่ฝ่าฝืนไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยอาจถูกจับและถูกลงโทษได้ ส่วนในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประชากรตามเมืองใหญ่ๆก็เริ่มสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองจากผู้อื่นเช่นกัน

ในประเทศเหล่านี้ การสวมหน้ากากอนามัยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางวัฒนธรรมตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ด้วยซ้ำ และบางพื้นที่การสวมหน้ากากอนามัยถือเป็นการบ่งบอกถึงความมีสไตล์ และเป็นแฟชั่น เช่นกรณีหน้ากากอนามัยเฮลโล คิตตี้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฮ่องกง

ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออก ผู้คนจำนวนมากสวมหน้ากากอนามัยเมื่อรู้สึกว่าตัวเองป่วย หรือเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลโรคจมูกอักเสบเพราะภูมิแพ้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไม่สุภาพที่จะไอหรือจามในที่สาธารณะโดยไม่มีสิ่งใดป้องกัน 

ช่วงปี 2546 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในฮ่องกงหันมาสวมหน้ากากอนามัยกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้สังคมตะวันออกต่างจากสังคมตะวันตกก็เพราะประสบการณ์เกี่ยวกับการระบาดของโรคที่เคยเกิดขึ้นนั่นเอง 

นอกจากนี้ ด้วยความที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่องหมอกควันและสภาพอากาศย่ำแย่ โดยเฉพาะในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น  การสวมหน้ากากอนามัยของผู้คนในภูมิภาคนี้ ก็เพื่อป้องกันมลพิษด้วยส่วนหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม มีสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ขอร้องไม่ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19  เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีหน้ากากอนามัยพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับชาวสิงคโปร์มีความเชื่อมันในรัฐบาลสูง เมื่อรัฐบาลร้องขอเรื่องใด ประชาชนจึงทำตามด้วยความเต็มใจ

บางคนอาจกล่าวว่า การสวมหน้ากากอนามัยคือการสะกิดบอกกันทางอ้อมทางสังคมถึงอันตรายของโรคที่กำลังแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้เกิดการบอกต่อๆ กันไปในด้านพฤติกรรมที่จะช่วยทำให้ทั้งสังคมมีสุขอนามัยดีขึ้น

"การสวมหน้ากากอนามัยทุกวันก่อนที่คุณจะออกไปนอกบ้านเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เหมือนการใส่เครื่องแบบ คุณจะรู้สึกถึงการที่จะต้องธำรงรักษาคุณค่าของเครื่องแบบที่คุณใส่เอาไว้ ซึ่งทำให้คุณมีพฤติกรรมที่ถูกสุขอนามัยมากขึ้น เหมือนกับการพยายามไม่จับใบหน้า หรือการเว้นระยะห่างในสังคม" โดนัลด์ ลอว์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าว

คำถามคือการสวมหน้ากากอนามัยช่วยให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกสุขอนามัยได้จริงหรือ คำตอบคือแนวคิด แนวปฏิบัติทุกอย่างมีความหมายทั้งนั้นในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกกำลังต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้

“เราไม่สามารถพูดได้ว่าหน้ากากอนามัยไม่มีประสิทธิผลอะไร เพราะมันคือเครื่องป้องกันที่เราให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของเรา เพราะเราเชื่อว่าอย่างน้อยมันช่วยป้องกันได้” เบนจามิน คอว์ลิง นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม มีด้านลบเกี่ยวกับกรณีของหน้ากากอนามัยด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ไทย ต่างก็เจอปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด และที่เกาหลีใต้ต้องใช้วิธีจำกัดจำนวนเพื่อให้มีใช้อย่างเพียงพอในประเทศ หรือมีความกังวลเกิดขึ้นในสังคมว่าอาจมีการนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วมาใช้อีก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกสุขอนามัย ไม่ว่าจะซื้อมาจากตลาดมืด หรือที่ทำขึ้นมาเอง ซึ่งอาจด้อยคุณภาพหรือใช้งานไม่ได้เลย

ทว่าปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศตะวันตกอาจไม่เกิดขึ้น เพราะในซีกโลกตะวันตก ถ้าใครสวมหน้ากากอนามัย อาจถูกประณามหรือกีดกันหรือแม้กระทั่งถูกทำร้ายได้

ในเวลานี้ไม่ว่าสังคมประเทศใดที่สนับสนุนให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัย เดินมาถูกทางแล้ว และตอนนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกำลังตั้งคำถามกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของคนที่ไม่แสดงอาการที่กำลังเป็นคนแพร่เชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าพวกเขาเหล่านี้ ใส่หน้ากากอนามัย บางทีอาจจะไม่ได้กลายเป็นคนแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวก็ได้ด้วยเหตุนี้ แม้การสวมหน้ากากอนามัยจะเป็นเรื่องของประสบการณ์เกี่ยวกับโรคที่เคยประสบ หรือวิถีในสังคมที่เคยปฏิบัติกันมา แต่ในช่วงเวลาที่การระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆแบบนี้  เราอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอด