“ซูเปอร์ เซคคันส์” ตามบัญชีเมด็อก 1855

 “ซูเปอร์ เซคคันส์”  ตามบัญชีเมด็อก 1855

 เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เคยมีการสอบถามคอไวน์ 100 คนว่า อยากดื่มไวน์ประเทศไหนที่สุดในโลก ปรากฏว่า  80 คน บอกว่าไวน์ฝรั่งเศส ถามต่อไปอีกว่าไวน์ฝรั่งเศสจากเขตใดที่อยากดื่มมากที่สุด 75 คน ตอบว่า "ไวน์บอร์กโดซ์" (Bordeaux)

       เมื่อถามต่อว่า ไวน์บอร์กโดซ์อะไรที่อยากดื่มมากที่สุด ปรากฏว่า 90 คนตอบว่า...ไวน์ กรองด์ ครูส์ ชั้น 1 ซึ่งหมายถึงไวน์ใน บัญชีเมด็อก 1855 (Medoc Classification 1855) เพราะในบอร์กโดซ์มีการจัดเกรดไวน์ของแหล่งอื่นอีก 3-4 บัญชี

158541151929

        Ch. Cos D’Estournel 1990 

        สำหรับไวน์ชั้น 1 ตามบัญชี เมด็อก 1855 ที่ส่วนใหญ่ในบ้านเราชอบเรียกว่า 5 อรหันต์ นั้น แต่ผมเรียกว่า 5 เสือ เนื่องจากยังมีไวน์อีกหลายตัวที่คุณภาพเหนือกว่าทั้ง 5 ตัว ประกอบด้วยชาโต ลาตูร์ (Chateau Latour) ชาโต ลาฟิต ร็อธส์ชิลด์ (Chateau Lafite Rothschild) ชาโต โอต์ บริอง (Chateau Haut-Brion) ชาโต มาร์โกซ์ (Chateau Margaux) และชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ (Chateau Mouton-Rothschild)

158541156828

        Chateau Cos D’Estournel

         แม้ปัจจุบันจะมีไวน์ทั้งโลกใหม่และโลกเก่าผลิตได้คุณภาพยอดเยี่ยมเทียบเท่าหรืออาจจะดีกว่าไวน์ฝรั่งเศสอีกเป็นจำนวนมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไวน์กรองด์ ครูส์ ของฝรั่งเศสก็ยังเป็นที่ปรารถนาของคอไวน์ทั่วโลก โดยเฉพาะ 61 กรองด์ ครูส์ ตามบัญชีเมด็อก 1855 (Medoc Classification 1855)

          อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของบัญชีเมด็อก 1855 ก็คือ ไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือจัดอันดับชั้นใหม่เลย นับถึงวันนี้ย่างเข้าปีที่ 165 เข้าไปแล้ว (ยกเว้นปรับชาโต มูตอง ร็อธส์ชิลด์ ขึ้นมาอยู่ชั้น 1 ในปี 1973) ทั้งที่ไวน์บางตัวที่อยู่ในชั้นต่ำกว่าคุณภาพดีกว่าบางตัวที่อยู่ในชั้นสูงกว่า

          ที่ผ่านมามีความพยายามตลอดในการกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ปรับเปลี่ยนหรือจัดอันดับบัญชี เมด็อก 1855 เสียใหม่ ส่วนหนึ่งให้จัดอันดับใหม่ ด้วยการนำไวน์ทั้งหมดในเมืองบอร์กโดซ์มานับรวมด้วย เชื่อว่าจะได้บัญชีชั้นไวน์ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

           เป็นที่รู้กันดีว่าบัญชีเมด็อก 1855 เกิดจากนายทุน เจ้าของธุรกิจไวน์ แม้จะถูกสั่งโดย พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ก็ตาม แต่ในโลกนี้ไม่มีนายทุนหน้าไหนอยากจะทำการใด ๆ ที่ทำให้ตัวเองสูญเสียผลประโยชน์ เพราะการได้อยู่ชั้นสูง ๆ ย่อมหมายถึงรายได้มหาศาลจากการขายไวน์และสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย

            ไวน์ทั้ง 5 ตัวที่อยู่ในชั้น 1 (Premiers Crus Classes หรือ First Growths)  ราคาแพงมหาศาล   ดังนั้นสิ่งที่ผู้คร่ำหวอดในวงการไวน์นิยมทำกันคือหาไวน์ชั้นรอง ๆ ลงมาดื่ม เพราะไวน์พวกนี้บางยี่ห้อบางชาโต คุณภาพเป็นรองไวน์ชั้นที่สูงกว่าไม่เท่าไหร่ แต่ราคาถูกกว่ากันราวฟ้ากับเหว

            สำหรับไวน์ตามบัญชีเมด็อก 1855 (Medoc Classification 1855) ที่ถูกจับจ้องและจับจองมากคือ ไวน์ชั้น 2 (Deuxièmes Crus Classes หรือ Second Growths) มีอยู่ 14 ยี่ห้อ บางยี่ห้อคุณภาพดีเยี่ยม ถึงขนาดผู้เชี่ยวชาญบอกว่าถ้ามีการจัดชั้นกันใหม่บางยี่ห้ออาจจะขยับขึ้นมาชั้น 1 ด้วยซ้ำไป มาดูกันว่าทั้ง 14 ตัวมีอะไรบ้าง (ในวงเล็บคือเขตผลิต)

158541162044

           Ch. Leoville Las Cases 1989

       1.Château Rausan-Ségla ( Margaux)  2.Château Rauzan-Gassies ( Margaux)  3.Château Léoville Las Cases (St.-Julien)  4.C.hâteau Léoville Poyferré (St.-Julien)  5.Château Léoville Barton (St.-Julien)  6.Château Durfort-Vivens (Margaux)  7.Château Gruaud-Larose (St.-Julien) 8.Château Lascombes (Margaux)  9.Château Brane-Cantenac Cantenac-Margaux (Margaux) 10.Château Pichon-Longueville Baron (Pauillac)  11.Château Pichon Longueville Comtesse de Lalande (Pauillac)  12.Château Ducru-Beaucaillou (St.-Julien)  13.Château Cos-d'Estournel (St.-Estèphe)  14.Château Montrose (St.-Estèphe)

158541166597

          Ch. Pichon Baron 1989 

         ในจำนวน 14 ตัวดังกล่าวมีอยู่ 5-6 ตัวที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ เรียกว่า ซูเปอร์ เซคคันส์ (Super Seconds) หรือ ราชาแห่งชั้น 2 ซึ่งผมได้ชิมไปเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา และเป็นวินเทจก่อน 2000 ทั้งสิ้นประกอบด้วย Chateau Pichon Lalande 1996, Chateau Leoville Las Cases 1989,  Chateau Pichon Baron 1989, Chateau Cos D’Estournel 1990 และ Chateau Gruaud Larose 1990

158541249664

           Ch. Pichon Lalande 1996

      ชาโต ปิชง ลาลองด์ 1996 (Château Pichon Lalande 1996) : ชื่อเต็มว่า “ชาโต ปิชง ลองกือวิลล์ กอมแตส เดอ ลาลองด์” (Château Pichon-Longueville Comtesse de  Lalande) แห่งตำบลปูฌาค (Pauillac) ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในซูเปอร์ เซคคันส์ (Super Seconds) ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยง แมร์โลต์ กาแบร์เนต์ ฟรัง และเปติต์ แวร์กโดต์ ในอัตราส่วน 75 15 5 5 % ตามลำดับ

158541170969

          Chateau Pichon Lalande

        ชาโต ปิชง ลาลองด์ ไม่ไช่ไวน์ประเภทหมัดหนักหรือแทนนินแน่นปึ้กเหมือนปูฌาคทั่วไป แต่เป็นไวน์ที่มีเสน่ห์ตรงความอบอวลของกลิ่นและรสชาติ ส่วนหนึ่งเพราะใช้แมร์โลต์เยอะ (ประมาณ 30-40 %) แต่ในบอร์กโดซ์ วินเทจ1996 เป็นปีทองของกาแบร์เนต์ โซวีญยง ส่วนผสมจึงออกมาดังกล่าว ทำให้ไวน์ตัวนี้เป็นวินเทจที่เยี่ยมวินเทจหนึ่งนับแต่ผลิตมา โครงสร้างสมดุลดีมาก....ไวน์สีแดงค่อนข้างเข้มมีขอบบราวน์ไม่มาก เมื่อเทียบกับไวน์ชั้น  2 ตัวอื่นที่เคยชิมมา หอมกลิ่นผลไม้สุก  เช่น  แบล็คเคอร์แรนท์  แบล็คเบอร์รี พลัม บลูเบอร์รี   และผลไม้ประเภทฟิกหรือมะเดื่อ ไส้ดินสอดำ ไม้ซีดาร์ ยาสูบ หนังสัตว์ มิเนอรัล มินท์ ยูคาลิปตัส  

   158541194179        

         Chateau Leoville Las Cases

         ชาโต เลโอวิลล์ ลาส์ กาสส์ 1989 (Château Leoville Las Cases 1989) : สุดยอดแห่งชั้น 2 จากแซงต์ – ฌูเลียง (St.-Julien) ส่วนหนึ่งของความยอดเยี่ยมเพราะมีไร่ติดกับไร่ของชาโต ลาตูร์ (Chateau Latour) ไวน์ชั้น 1 ที่สำคัญเป็นตัวเก็งที่คาดว่าถ้ามีการจัดชั้นใหม่จะได้ขยับขึ้นชั้น 1 อย่างแน่นอน วินเทจนี้ทำจากองุ่นกาแบร์เนต์ โซวีญยง (Cabernet Sauvignon) 65 % แมร์โลต์ (Merlot) 18 % กาแบร์เนต์ ฟรัง (Cabernet Franc) 14 % และเปติต์ แวร์กโดต์ (Petit) 3 % ผลิตปีละ 30,000 ลัง...สีแดงแกมน้ำตาล หอมกลิ่นผลไม้สุกฉ่ำ เช่น แบล็คเคอร์แรนท์ แบล็คเบอร์รี พรุน และพลัม ยาสูบ ช็อกโกแลต  สไปซี่เฮิร์บ กรีนเปปเปอร์ ชะเอมเทศ ซีดาร์ ไส้ดินสอดำ โอ๊คยังค่อนข้างเยอะหอมหวานและสโม้คกี้ วานิลลา แทนนินนุ่มเนียน จบยาวด้วยผลไม้สุก และเฮิร์บชุ่มคอ.....19/20 คะแนน

158541201971

             Chateau Pichon Lalande

            ชาโต ปิชง บาฮรง 1989 (Château Pichon Baron 1989) : ชื่อเต็มคือชาโต ปิชง ลองกือวิลล์ บาฮรง (Chateau Pichon – Longueville Baron) แห่งปูฌาค (Pauillac) อยู่ฝั่งตรงข้ามกับชาโต ปิชง ลาลองด์ (Chateau Pichon Lalande)ชาโตผู้น้อง โดยปัจจุบัน Ch.Pichon Baron อยู่ในเครือ แอกซ่า ประกันภัย (AXA) ทำจากองุ่นกาแบร์เนต์ โซวีญยง 75 % แมร์โลต์ 24 % และเปติต์ แวร์กโดซ์ 1 %...สีแดงค่อนข้างเข้มขอบแซมด้วยสีบราวน์ค่อนข้างมาก แต่โครงสร้างยังยอดเยี่ยมมาก มีกลิ่นเห็ดทรัฟเฟิลที่โดดเด่น พร้อมกลิ่นผลไม้สุก เช่น แบล็คเคอร์แรนท์ พลัม แบล็คเบอร์รี และบลูเบอร์รีกล่องซิการ์ ไส้ดินสอดำ ดอกไวโอเลต หนังสัตว์ ซีดาร์ ยาสูบ มิเนอรัล สไปซี่เฮิร์บ จันทน์เทศ อบเชย แทนนินยังแน่นแต่นุ่มนวลเนียน จบยาวด้วยผลไม้สุก เฮิร์บ และควันไฟ...18.5/20 คะแนน

158541232299

          Chateau Gruaud Larose 

          ชาโต กอส เดสตูร์เนล 1990 (Château Cos D’Estournel 1990) : สุดยอดไวน์แห่งแซงต์- เอสเตฟ (St.-Estephe) ได้รับการยกย่องให้เป็นระดับราชาของชั้น 2 บางคนเรียกว่า “Chinese Chateau” เพราะสร้างชาโตเป็นเก๋งจีน 3 หลัง ทำจากกาแบร์เนต์ โซวีญยง แมร์โลต์ และกาแบร์เนต์ ฟรัง ในอัตรา 60- 40  % ตามลำดับ...สีแดงขอบส้มแกมบราวน์ หอมกรุ่นด้วยผลไม้สุก คล้ายแยมผลไม้  เช่น แบล็คเบอร์รี พลัม และแบล็คเคอแรนท์ ตามด้วยเห็ดทรัฟเฟิล กล่องซิการ์ ยาสูบ หนังสัตว์ มิเนอรัล โอ๊คหอมหวาน สไปซี่เฮิร์บแห้ง ๆ แบล็คเปปเปอร์ ยี่หร่า แทนนินยังมีให้จับได้แต่เริ่มเบาบาง จบปานกลางด้วยผลไม้สุกฉ่ำ และเฮิร์บ.....18/20 คะแนน

158541210916

        Ch.Gruaud Larose 1990  

        ชาโต กรูด์ ลาโรส 1990 (Château Gruaud Larose 1990) : แห่งแซงต์ จูเลียง (St.-St-Julien) ไวน์คุณภาพเกินราคา เป็นเจ้าของเดียวกับชาโต ชาส์สปลีน (Ch.Chasse-Spleen) ใช้องุ่นกาแบร์เนต์ โซวีญยง แมร์โลต์ กาแบร์เนต์ ฟรัง และเปติต์ แวร์กโดต์ ในอัตรา 65 25 8 2 % ตามลำดับ จากไร่ 207 เอเคอร์ หมักในทั้งถังไม้โอ๊คและซีเมนต์ แล้วบ่มในถังโอ๊ค 18 เดือน....สีแดงเข้ม หอมกลิ่นผลไม้สุก เช่น แบล็คเชอร์รี แบล็คเบอร์รี แบล็คเคอร์แรนท์ และพลัม ไม้ซีดาร์ ยาสูบ กล่องซิการ์ กลีบกุหลาบ หนังสัตว์ สไปซี่เฮิร์บ ชะเอมเทศ กรีนเปปเปอร์ ยี่หร่า แทนนินยังแน่นแต่นุ่มนวลเนียน จบยาวด้วยผลไม้สุก เฮิร์บ และมิเนอรัล....18.5/20 คะแนน

            นั่นคือ 5 สุดยอดของไวน์ ซูเปอร์ เซคคันส์ หรือไวน์ชั้น 2 ตามบัญชีการจัดเกรดไวน์ เมด็อก 1855 มีโอกาสไม่ควรพลาดในการลิ้มรส