ประชากรออนไลน์ สู้ภัย Covid-19

ประชากรออนไลน์ สู้ภัย Covid-19

ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรออนไลน์ นำเทคโนโลยี ดิจิทัล หรือนวัตกรรมมาปรับใช้ ในการเลี่ยงภัยโรคระบาดโควิด-19 และเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่จะเพิ่มมากขึ้น

ในวิกฤติก็มีโอกาส และสำหรับประเทศไทย ถ้าเราสังเกตให้ดีและมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะพบว่าโดยส่วนใหญ่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเองล่วงหน้ามีน้อยมาก

วิสัยทัศน์จึงเกิดกับคนและองค์กรที่มีผู้นำที่มองการณ์ไกล และหล่อหลอมคนให้คิดและลงมือทำร่วมกัน ในอดีตที่มีการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำมัน ไม่ว่าจะผ่านสื่อ โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ และใช้จ่ายเงินมากมายหลายสิบหลายร้อยล้าน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทันทีที่ค่าน้ำมันแพงจนเกินรับไหว ทุกคนต่างหันไปใช้แก๊ส ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกกันหมด แม้ว่าจะต้องลงทุนเสียค่าติดตั้งก็ตาม เป็นผลให้อู่ติดแก๊สและปั๊มแก๊สเกิดขึ้นมากมาย

ครั้งล่าสุดกับกระแสการลดใช้พลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้ว่าจะมีความพยายามมากมายหลายครั้ง ทั้งขอความร่วมมือกับห้างร้านต่างๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งเราเริ่มเห็นผิดภัยของมันชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะขยะพลาสติกที่ไปอยู่ในทะเล จนทำให้สัตว์ทะเลหายากหลายชนิดตาย และขยะพลาสติกเหล่านี้เริ่มสร้างปัญหากับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

การให้ยาแรงในรูปของกฎหมายสั่งห้าม และการให้ความร่วมมืออย่างดีจากร้านค้า สะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เริ่มเป็นผลมีการรายงานทางสถิติออกมาชัดเจนว่ามีการใช้น้อยลง จนส่งผลกระทบถึงโรงงานผู้ผลิตที่ต้องปรับตัว และกรณีมลพิษจากการใช้ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาพื้นที่เกษตร เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM 2.5 น่าจะเป็นกรณีต่อไป ถ้ารัฐบาลส่งสัญญาณเอาจริงในการเร่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electrical Vehicle - EV) นอกจากจะรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคไว้ได้แล้ว ยังช่วยลดมลภาวะเป็นพิษ ได้ดีกว่าวิ่งไล่แก้ไขปัญหา

ถึงเวลาที่คนไทยจะก้าวเป็นประชากรออนไลน์ พัฒนาทักษะดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อการทำางาน

แต่อะไรก็ไม่แน่นอน วันที่ผมกำลังนั่งพิมพ์บทความนี้อยู่ ก็เป็นวันเวลาเดียวกับที่มีมาตรการเข้มข้น โดยประกาศเป็นหนังสือออกมาอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ปิดสถานบันเทิง ศูนย์การค้า (ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และ ร้านอาหารที่อนุญาตให้สั่งออกไปกินได้ นอกร้าน) และสถานที่ปิดที่อาจมีคนไปรวมตัวกันอย่างหนาแน่น ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการแพร่กระจายหรือติดเชื้อระหว่างกันได้ หลังจากที่พบผู้ป่วย Covid-19 จากสนามมวย และร้านกินดื่มย่านทองหล่อ

จากเดิมซึ่งประชาชน โดยเฉพาะคนทำงานในเขตเมืองใหญ่ซึ่งมีความตื่นตัวกันอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากคนส่วนมากจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกไปในที่ ชุมชน สถานที่สาธารณะ หรือแม้แต่ทำงานอยู่ในจุดเสี่ยงที่ต้องให้บริการ หรือพบเจอลูกค้าจำนวนมาก จนทำให้ความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ต่างๆ เบาบางอย่างมาก แม้แต่การจราจรที่โล่งขึ้นในกรุงเทพ อันเนื่องมาจากหลายโรงเรียนปิดไปก่อนหน้านี้

แต่ครั้งนี้ส่งผลให้สถานที่ทำงานหลายแห่งเริ่มนำมาตรการรับมือในภาวะวิกฤติมาใช้ ด้วยการให้บางแผนก/ ฝ่ายทำงานที่บ้าน กระแสที่เรียกว่า Work from home จึงกลายเป็นคำฮิต และเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังสร้างคุณค่าใหม่ จากที่แต่เดิมทุกคนคุ้นเคยจากการเสพสื่อออนไลน์ ดูหนังฟังเพลง และสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ได้นำทักษะความสามารถเหล่านั้นมาใช้ในการทำงาน เรียนหนังสือ ประชุมออนไลน์

หลายองค์กรซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จจากนโยบายเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) แม้ว่าจะส่งคนไปอบรม ลงทุนนำไอทีและระบบ ดิจิทัลมาใช้ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากพนักงานในองค์กร คราวนี้จะได้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส มีรายงานว่า ยอดการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซอฟท์แวร์หรือแอพที่รองรับการทำงานออนไลน์ที่มีฟังก์ชั่นครบ อาทิ Webex Zoom และ Microsoft Teams มียอดดาวน์โหลดและติดตั้งเพิ่มสูงขึ้นอย่าง มากมายมหาศาล

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการโทรศัพท์ผ่าน 4G และผู้ให้บริการคราวด์ ต่างเร่งระดมพลพร้อมขยายความสามารถให้รองรับกับทราฟฟิกที่หนาแน่นได้ คำว่า เรียนออนไลน์ (Learn from home) ทำงานออนไลน์ (Work from home) การอยู่ในสังคมออนไลน์แบบมีระยะห่างระหว่างกัน (Social distancing) จะช่วยบรรเทาผลกระทบและหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ เราเคยฟังครู เชื่อพระ หันมาปฏิบัติตัวตามที่แพทย์ให้คำแนะนำกันเถอะ

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นประชากรออนไลน์ พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน อย่างน้อยเบื้องต้นในตอนนี้คือต้านภัยไวรัส Covid-19 ก้าวไปทีละขั้น จากยอมรับสู่ปรับใช้ และท้ายที่สุดคือสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ ดังนี้

(1) Technology adoption ยอมรับมันด้วยการศึกษา ค้นคว้า และ เห็นคุณค่า จากนั้นนำมาใช้ในจุดหรือพื้นที่ที่ล้าสมัยไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมายกระดับปรับกระบวนการใหม่ให้ ทันสมัย (2) Technology adaption ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพการทำงานที่อาจแตกต่างไปจากเดิม (3) Technology application การนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้สร้างสิ่งใหม่ให้มีคุณค่ามากขึ้น อาทิ ลดต้นทุนกระบวนการ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) สร้างแนวคิดทางธุรกิจใหม่ (business model) เชื่อว่าเราทุกคนจะฟันฝ่าวิกฤติ ครั้งนี้ไปด้วยกัน