ห้วงเวลา 'วิกฤติ' ต้อง 'ร่วมใจ' ไม่ฉวยโอกาส

ห้วงเวลา 'วิกฤติ' ต้อง 'ร่วมใจ' ไม่ฉวยโอกาส

ในห้วงเวลาวิกฤติครั้งนี้ ทุกฝ่ายไม่เพียงต้องร่วมมือร่วมใจ ฟันฝ่าความยากลำบาก หากทุกคนต้องมีความเสียสละ รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ไม่พยายามทำให้ตัวเองเป็นภาระต่อคนอื่น ปิดประตูความเสี่ยงทุกด้านลง

วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ดูจะ “ร้ายแรง” กว่าที่ใครหลายคนคาดการณ์ไว้ เพราะทั่วโลกยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เปิดเผยตัวเลขล่าสุดวานนี้ (27 มี.ค.) บ่งชี้ว่า ขณะนี้ สหรัฐ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจของโลก กลายเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากที่สุด โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 82,404 ราย แซงหน้าจีนที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จำนวน 81,782 ราย และอิตาลี ที่มีผู้ติดเชื้อ 80,589 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 ในสหรัฐมีจำนวนกว่า 1,100 ราย 

ด้านผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจของอังกฤษ ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ว่า อาจจะได้เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกในปีนี้สูงถึง 1.8 ล้านคน แม้ว่ารัฐบาลทั่วโลกจะออกมาตรการที่รัดกุมและรวดเร็วแล้วก็ตาม ส่วนในประเทศไทย วานนี้ กระทรวงสาธารณสุข รายงานตัวเลข มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน รวมแล้วประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้ 5 ราย มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,136 ราย

วิกฤติครั้งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลไปทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจเป็นอัมพาต การขนส่ง โลจิสติกส์หยุดชะงัก ทุกประเทศเน้นมาตรการให้คนอยู่แต่ในที่พักอาศัย เพื่อสกัดเชื้อไม่ให้ลุกลาม ออกจากบ้านได้เฉพาะมีเหตุจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ออกไปซื้อยา ซื้ออาหาร ของอุปโภค บริโภคที่จำเป็นเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดให้บริการอยู่ ภาคการจับจ่ายใช้สอยของคนเลยลดลงเป็นอย่างมาก บรรยากาศการจับจ่าย เน้นเพื่อการยังชีพเป็นหลัก ร้านค้าเล็กๆ ไล่ไปถึงขนาดกลาง และขนาดใหญ่ต้องปิดหน้าร้านและหันไปใช้ช่องทางออนไลน์แทน การหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจจึงผิดเพี้ยน 

ขณะที่ยังยากคาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยืดเยื้อยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ บรรดาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยวงจรของซัพพลายเชน เริ่มหวั่นวิตก หากเจ้าโรคระบาดร้ายแรงนี้ ยืดเยื้อยาวนานเลยกลางปี 2563 ไปสถานการณ์การกอบกู้ หรือฟื้นธุรกิจจะยิ่ง “ยาก” และ “เหนื่อย” อย่างแสนสาหัส  ดังนั้นธุรกิจจึงต้องวางแผนให้ดี และมองยาวๆ ไปให้ถึง “หลัง” โรคโควิด-19 หยุดระบาด หรือเรียกว่า “โลกหลังยุคโควิด” ธุรกิจ สังคม ประเทศ จะฟื้นสัพพะกำลังกันอย่างไร  

ในห้วงเวลาวิกฤติครั้งนี้ ทุกฝ่ายไม่เพียงต้องร่วมมือร่วมใจ ฟันฝ่าความยากลำบาก หากทุกคนต้องมีความเสียสละ รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ไม่พยายามทำให้ตัวเองเป็นภาระต่อคนอื่น ปิดประตูความเสี่ยงทุกด้านลง ขณะที่ภาคธุรกิจบางเซกเตอร์ที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤติครั้งนี้ ต้องไม่ "ฉวยโอกาส” บนความลำเค็ญที่ผู้อื่นกำลังประสบอยู่ กลับกันควร “เสียสละ” “ช่วยเหลือ” “ประคับประคอง” คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องแบ่งปัน สนับสนุน ให้โอกาสธุรกิจหรือผู้ประกอบการขนาดเล็กได้มีที่ยืน และเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีแรงเดินต่อ แม้จะซวนเซ หากยังมีคนที่แข็งแรงกว่าคอยประคับประคอง เพื่อให้สุดท้ายแล้วทุกๆ กลุ่มในสังคมประเทศ สามารถเดินฝ่ามรสุมครั้งใหญ่ครั้งนี้ไปได้อย่างมั่นคง และพร้อมรับ “โลกหลังยุคโควิด” ด้วยภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งไปพร้อมกัน