อีก2สัปดาห์! ต่างจังหวัดผู้ป่วย 'โควิด-19'กระโดดขึ้น

อีก2สัปดาห์! ต่างจังหวัดผู้ป่วย 'โควิด-19'กระโดดขึ้น

คณบดีศิริราชคาดอีก 2 สัปดาห์ต่างจังหวัดผู้ป่วยโควิด-19กระโดดขึ้น ยอดสะสมแตะ 2,000 ราย ผลพวงจากคนกรุงแห่กลับ กำชับทำมาตรการ “อยู่บ้าน-รักษาระยะห่าง” เตือนตรวจแล็บผิดเวลา แปลผลพลาดคนตรวจเสี่ยงอันตราย ย้ำทุกคนไม่จำเป็นต้องแห่ตรวจ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า คาดว่าใน 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะกระโดดขึ้น และผู้ป่วยสะสมแตะ 2,000 รายแน่นอน เป็นผลพวงจากการที่คนจากกรุงเทพมหานครเดินทางกลับต่างจังหวัด ก็จะทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น และต้องยอมรับว่าความพร้อมของทรัพยากรโรงพยาบาลในต่างจังหวัดในการดูแลผู้ป่วยอาการหนักไม่เท่ากับพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเช่น อัตราแพทย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 1 ต่อ 3,000 ขณะที่กรุงเทพฯอยู่ที่ 1 ต่อ 800 จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงการทำมาตราการอยู่บ้านและรักษาระยะห่าง


ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การที่ทุกคนร่วมใจกันอยู่บ้านแล้วจะหยุดเชื้อได้ เพราะหากในบ้านยังไม่มีคนติดเชื้อ หากออกไปนอกบ้านก็เสี่ยงที่จะไปพบเจอกับคนที่มีเชื้อโดยที่ไม่มีอาการแล้วนำเชื้อเข้ามาติดคนในบ้าน หรือหากคนในบ้านมีผู้ติดเชื้อแล้วไม่อยู่บ้าน ออกไปข้างนอกก็จะนำเชื้อไปติดคนอื่น ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันอยู่บ้าน ร่วมกับการทำมาตรการระยะห่าง เพราะหากมีการติดต่อกัน พูดคุยกันในระยะ 1 เมตร จะมีละอองขนาด 5 ไม่ครอนจากปากคนพูดไปสู่อีกคนประมาณ 3,000 ละออง เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือจึงต้องห่างกัน 2 เมตร และใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้าหากยังไม่มีอาการอะไร

158528908091


ถ้าคนไทย 67 ล้านคน ร่วมมือกันทำทั้ง 2 อย่าง คือ อยู่บ้านและรักษาระยะห่าง แต่มีคนเพียง 10 คนที่ไม่ทำ แล้วยังไปปาร์ตี้ ก็จะทำให้คนทั้ง67 ล้านคนแพร่เชื้อได้หมด จึงต้องช่วยกันทำตามคำแนะนำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพราะหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากจริงๆ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขจะดูแลได้ไม่ทัน ก็จะย้อนกลับมาอุปกรณ์ไม่พอ ยาไม่พอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไข้ไม่รอด และบุคลากรทางการแพทย์ถ้าติด 1 คน คนดูแลน้อยไป 1 คน แต่คนป่วยกลับมีเพิ่มขึ้น และบุคลากรติด 1 คน ต้องออกไปกักตัวทั้งทีม 14 วันจะกระทบอย่างมาก จึงต้องทำให้ต้นทางมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลน้อยลง ส่วนการตรวจแล็บโควิดนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องวิ่งไปตรวจ เพราะถ้ามีการแปลผลผิดคนที่ตรวจจะเป็นอันตราย เช่น ตรวจด้วยชุดทดสอบรวดเร็วแล้วผลเป็นลบแล้วคนนนั้นก็ไปดี๊ด๊า ทั้งที่ผลนั้นไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ เพียงแต่ยังไม่เจอเชื้อเท่านั้น”ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์กล่าว


ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การตรวจภูมิคุ้มกันด้วยชุดทดสอบรวดเร็วหรือที่เรียกว่าราปิด เทสต์ (Rapid Test) ที่เป็นการเจาะเลือดนั้น จะต้องตรวจในระยะเวลาหลังรับเชื้อยาวนานพอสมควรเพื่อให้ร่างกายสร้างสารแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ใช้เวลาประมาณ10 วันขึ้นไปหลังรับเชื้อ เพราะฉะนั้นการใช้ชุดทดสอบรวดเร็ว หมายถึงใช้เวลารวดเร็วในการทดสอบในห้องแล็บ แต่ไม่ได้แปลว่าตรวจได้เร็วหลังรับเชื้อ เพราะเมื่อรับเชื้อแล้วการจะตรวจด้วยชุดทดสอบรวดเร็วนั้นต้องรอเวลาหากไปตรวจในเวลาที่ไม่ถูกต้อง ตรวจก็ไม่เจอ ดังนั้น การตรวจยืนยันเชื้อด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสที่ดำเนินการอยู่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันนั้น สามารถตรวจได้เร็วกว่าในการตรวจหาเชื้อหลังรับเชื้อโดยตรวจได้หลังรับเชื้อ 5-7 วัน


“การตรวจทางห้องแล็บจะเป็นการตรวจตามระยะของโรคที่ดำเนินไป แพทย์จะเลือกใช้วิธีการตรวจตามระยะของโรค ซึ่งการตรวจด้วยชุดทดสอบรวดเร็วในตอนนี้ที่จะมีประโยชน์คือการตรวจในผู้ป่วยที่ปอดบวมไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะการที่ปอดบวมแล้วแผลว่าติดเชื้อมาหลายวัน และการมาตรวจย้อนหลัง โดยอาจจะมีคนติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ก็มาตรวจย้อนหลังตามรอยได้ “ผศ.นพ.กำธรกล่าว