เปิดวิธีคลายเหงาเมื่อ Extrovert ต้อง 'อยู่บ้าน' หนีโควิด-19

เปิดวิธีคลายเหงาเมื่อ Extrovert ต้อง 'อยู่บ้าน' หนีโควิด-19

คนที่มีบุคลิกภาพในกลุ่ม Extrovert หรือคนที่ชอบเข้าสังคม ชอบกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อต้อง 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ' ในภาวะโรคระบาด 'โควิด-19' ก็อาจจะเกิดความเหงาหรือเครียดได้ มาดูวิธีคลายเหงาระหว่างที่ติดแหง็กอยู่บ้านยาวๆ กันเถอะ

ท่ามกลางภาวะวิกฤติ "โควิด-19" ครั้งนี้ ได้เห็นพลังของคนไทยที่ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดีด้วยการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" แม้จะพบว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ในระดับรายวันนั้นถือว่ายังไม่พุ่งสูงมากเหมือนบางประเทศ เรียกว่าการกักตัวเอง "อยู่บ้าน" น่าจะมีส่วนช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อไม่พุ่งสูงไปมากกว่านี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert การอยู่บ้านนานๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะอาจทำให้พวกเขามีอาการ "เหงา" หรือเครียดได้ง่าย ใครที่กำลังรู้สึกแบบนี้ต้องหาวิธีแก้ด่วนๆ

แล้วทำไม Extrovert ที่ต้องติดแหง็กอยู่ที่บ้านนานหลายวัน ถึงมีโอกาสกลายเป็น "คนขี้เหงา" ได้มากกว่าคนอื่นๆ เราชวนคุณมาหาคำตอบในเชิงจิตวิทยาไปพร้อมๆ กัน

  • ใครคือ Extrovert ในทางจิตวิทยา

ก่อนอื่นขอพาไปรู้จักกับทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แบ่งแยกบุคลิกภาพของคนเราออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ Extrovert กับ Introvert ซึ่งทฤษฎีนี้ถูกนำเสนอโดย คาร์ล กุสตาฟ จุง นักจิตวิทยาชาวสวิสร่วมสมัย ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับนักจิตวิทยาชื่อดังระดับโลกอย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่ง คาร์ล กุสตาฟ จุง ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งและได้รับการยกย่องว่าเป็นนักจิตวิทยาในระดับแนวหน้า

สำหรับแนวคิดที่สร้างชื่อและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังเป็นต้นแบบสำคัญของแบบทดสอบพฤติกรรมต่างๆ มากมายที่พวกเราถูกใช้ทดสอบเพื่อค้นหาตัวเอง ค้นหาอาชีพที่ชอบ ความถนัด และอื่นๆ ผลงานนั้นเป็นทฤษฎีที่ว่าปัจเจกบุคคลสามารถถูกจำแนกตามประเภทของทัศนคติทั่วๆ ไป คือ  introverted (การมองเข้าไปภายใน) และ extroverted (การมองออกไปภายนอก) ซึ่งแต่ละรูปแบบที่มนุษย์แสดงออกจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำงานของจิตใจทั้ง 4 ด้าน คือ การสัมผัสได้ (sensing), การหยั่งรู้ (intuiting), ความคิด (thinking), ความรู้สึก (feeling) 

สำหรับกลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพในแบบ Extrovert นั้น อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นคนที่มีบุคคลิกเชื่อมั่นในตัวเอง ชอบเข้าสังคม ชอบพูดคุยกับคนหลากหลาย ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก โดยจะเป็นคนที่มองและใช้เวลาส่วนใหญ่กับสังคมและผู้คนรอบๆ ข้างเป็นหลัก และอาจเป็นคนไม่มีสมาธิที่ทำอะไรคนเดียว ถ้าอยู่คนเดียวก็จะเบื่อ ต้องออกไปหาเพื่อนคุยหรือชอบมีคนอยู่รอบข้างตลอด ดังนั้นหากต้อง "อยู่บ้าน" หรืออยู่ในที่เดิมๆ เป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการเหงาและเครียดได้

ต่างกับคนที่มีบุคลิกภาพในกลุ่ม Introvert ซึ่งจะชอบอยู่กับตัวเอง ชอบกิจกรรมในบ้านเป็นหลัก ะไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ จะใช้ความคิดได้ดีและแสดงทักษะการแก้ปัญหาหรือความคิดสร้างสรรค์ได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ตามลำพัง มักหลีกเลี่ยงการเดินทางหรือสถานการณ์ที่ต้องพบปะคนมากมาย เรียกว่าเวลาที่ได้ "อยู่บ้าน" คือความสุขของชาว Introvert ก็ว่าได้

158555689668

  • Extrovert ขี้เหงากว่าคนทั่วไป 

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การกักตัวเองอยู่บ้านนานๆ เพื่อเฝ้าระวังตนเองในสถานการณ์วิกฤติ "โควิด-19" อาจทำให้คน Extrovert เกิดอาการเหงาและเครียดได้ เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่นิ่งกับที่แบบนี้ ขัดกับบุคคลิกส่วนตัวที่ชอบเข้าสังคม และชอบกิจกรรมนอกบ้านเป็นหลัก จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นได้ 

ที่มาของ "ความเหงา" นั้น อาจเกิดจากการขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือเกิดขึ้นเมื่อต้องอยู่ตัวคนเดียว โดยความเหงาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่อยู่รายล้อมแต่ขึ้นอยู่กับ "คุณภาพของความสัมพันธ์" ระหว่างกันและกันมากกว่า และมีงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายชิ้นชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกันว่า ความเหงา อาจทำร้ายสุขภาพได้มากกว่าที่คิด เช่น ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าตนเองขาดกำลังใจและความช่วยเหลือจากผู้อื่น เกิดการแยกตัวออกจากสังคม และพัฒนาไปสู่ความเครียดสะสมได้ โดยปัญหาหลักๆ ที่มักจะตามมา ได้แก่

1. ภาวะซึมเศร้า 

คนที่รู้สึกเหงาจากการที่ไม่ได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หากปล่อยให้ความรู้สึกนี้กัดกินจิตใจนานเกินไป อาจจะเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้าตามมาได้

2. อาการเจ็บป่วยแย่ลง 

ความเหงาหรือความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นอาจมีส่วนทำให้ภาวะเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ มีอาการแย่ลงได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับการอักเสบบางชนิด เป็นต้น

3. มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน

ความเหงาหรือความโดดเดี่ยวทางสังคมหากปล่อยให้เกิดยาวนานเรื้อรัง อาจสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนแห่งความเครียด) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อยีนกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและกระบวนการตอบสนองต่อการอักเสบ ดังนั้นความเหงาจึงอาจส่งผลให้กลไกเหล่านี้ทำงานแย่ลงได้ แต่เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ฟันธง 100% เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

158555689760

  • วิธีแก้เหงา ลดเครียด ในขณะ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ จากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เคยให้แนะนำในบทความวิชาการเอาไว้ว่า "ความเหงา" เกิดจากการไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ (อาจด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง) โดยวิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือ ให้พยายามกลับมาเชื่อมโยงกับตนเองให้มากขึ้น จะช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวลงได้ ซึ่งการเชื่อมโยงกับตนเองนั้น หมายถึง การกลับมาใส่ใจรับฟังความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเองด้วยความเข้าใจ, เข้าใจความสุข ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจและในร่างกายของตนเอง, หมั่นดูแลตนเองให้มากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ

นพ.ชัชวาลย์ ย้ำว่า การกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองสามารถช่วยคลายเหงาได้ การยอมรับความเหงาถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าเกลียดมันก็คือเกลียดตัวเอง ไม่เชื่อมโยงกับตัวเอง เมื่อเชื่อมโยงกับตัวเองได้แล้ว ความบีบคั้น ทรุนทุรายก็จะเบาลง จิตใจมั่นคงขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องฝึกฝนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่หลงจมไปกับความเหงา"

ในทำนองเดียวกันกับ รศ.ดร.ภญ.ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะความเครียดในบทความวิชาการเอาไว้ว่า "ความเครียด" เป็นภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ และทำให้รู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ กลัว วิตกกังวล ตลอดจนถูกบีบคั้น ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่คุกคามจิตใจและอาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลได้ด้วย

สำหรับวิธีที่จะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้นั้น ภญ.ศรีจันทร์ แนะนำให้เริ่มจากวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด แล้วพิจารณาดูว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้หรือไม่ หากแก้ไขไม่ได้อาจต้องหาวิธีอื่นๆ ในการจัดการกับความเครียด เช่น 

1. การผ่อนคลายทางร่างกาย: ฝึกหายใจลึกๆ ฝึกการเคลื่อนไหวของตัวเองให้ช้าลง ออกกำลังกาย การนวด การพักผ่อนให้มากขึ้น การรับประทานอาหารที่ชอบ การอาบน้ำอุ่น เป็นต้น

2. การลดความตึงเครียดทางจิตใจ: การสร้างอารมณ์ขัน การคิดในทางบวก การดูภาพยนตร์ การฟังเพลง การหัวเราะ ฝึกทำสมาธิ การใช้เทคนิคความเงียบ เพื่อหยุดความคิดของตัวเองในเรื่องที่ทำให้เครียด เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเครียดในระดับน้อยๆ ควรฝึกบ่อยๆ วันละ 2-3 ครั้ง และควรฝึกทุกวัน หรืออาจทำเฉพาะเมื่อรู้สึกเครียดก็ได้ โดยเฉพาะหากทำในช่วงก่อนนอนจะช่วยให้จิตใจสงบและนอนหลับสบายขึ้น 

นอกจากนี้อาจใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นตัวกลางในการพบปะเพื่อนๆ เพื่อคลายเหงาก็ได้ เช่น ใช้โปรแกรมแชทพูดคุยกับเพื่อน, ใช้วิดีโอคอลเพื่อพูดคุยกันแบบเห็นหน้า, จัดปาร์ตี้ออนไลน์กับเพื่อนๆ ผ่านทางวิดีโอคอล, เล่นเกมออนไลน์ หรือชวนกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมทางออนไลน์​ ก็เป็นไอเดียน่ารักไม่น้อยเลยทีเดียว

-------------------------

อ้างอิง:

https://th.wikipedia.org/wiki/Carl Gustav Jung

https://www.boomchanneltv.com/content/552/

https://dict.drkrok.com/extrovert/

https://www.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/posts/870720236365327/

https://www.pobpad.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%

https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/47/%E0%B8%84%E0%B8%