'อุณหภูมิร่างกาย' แค่ไหนคือปกติ แล้ววัดไข้ยังไงให้ชัวร์?

'อุณหภูมิร่างกาย' แค่ไหนคือปกติ แล้ววัดไข้ยังไงให้ชัวร์?

ชวนคนไทยมาเช็ค "อุณหภูมิร่างกาย" กันให้ชัวร์ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการไข้ โดยเฉพาะหากป่วยไข้จากโรค "โควิด-19" ต้องดูว่าไข้สูงแค่ไหนถึงควรไปพบแพทย์ และ "วัดไข้" อย่างไรให้แม่นยำที่สุด

สถานการณ์โรคระบาด "โควิด-19" ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วงเพราะจากการแถลงข่าวอัพเดทจำนวนผู้ติดเชื้อจากกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์โควิด-19 พบว่ามีจำนวนมากขึ้นทุกๆ วัน สิ่งที่คนไทยทุกคนช่วยประเทศไทยได้ในตอนนี้คือต้อง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" หากใครยังกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อและมีอาการป่วยหรือไม่? แนะนำให้เช็ค "อุณหภูมิร่างกาย" ทุกวันเพื่อจะได้ทราบว่าตนเองมีไข้สูง ร่วมกับมีอาการไอแห้ง หายใจเหนื่อยหอบด้วยหรือไม่

ในส่วนของการวัดค่า "อุณหภูมิร่างกาย" ให้แม่นยำเพื่อหาว่า "อุณหภูมิร่างกายปกติ" หรือ "มีไข้" ต่างกันอย่างไรนั้น สิ่งแรกคือควรเลือกใช้ เครื่องวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมมิเตอร์ให้ถูกประเภท และเลือกใช้แบบที่แม่นยำที่สุด โดยมีข้อมูลจากแพทย์รามาธิบดีคนหนึ่งที่ใช้ชื่อบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า "Chaval Detasvanong" ได้อธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนเข้าใจอย่างถูกต้อง และเพื่อนผู้ใช้ชื่อสื่อสังคมออนไลน์ว่า  "Visroot chanpensri" ก็ได้นำคำแนะนำนี้มาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนกลายเป็นไวรัลแพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามไปด้วย

  • รู้แล้วจำ! "อุณหภูมิร่างกายปกติ" อยู่ที่ 36.8-37.8 องศาฯ

โดยหลักๆ แล้วคุณหมอรามาฯ ท่านนี้ได้อธิบายว่า การ "วัดไข้" ที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดและบอกค่า "อุณหภูมิร่างกายปกติ" ได้แม่นยำ คือ การวัดด้วยปรอทวัดไข้แบบดั้งเดิม เสียบวัดไข้ที่ใต้รักแร้ จะได้ผลที่แม่นยำที่สุดเพราะเป็นการตรวจวัดแบบ Direct ไม่ผ่านตัวกลาง อีกทั้งอาการไข้อย่างเดียวไม่สามารถยืนยันได้ทันทีว่าติดโรคโควิด-19 เพราะอาการไข้เกิดได้หลากหลายสามเหตุมาก แต่อาการสำคัญของโรคโควิด-19 คือ หอบเหนื่อย ไอมาก เป็นต้น

คุณหมอคนดังกล่าวยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า อุณหภูมิปกติของร่างกายคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 36.8 - 37.8 องศาเซลเซียส หากวัดค่าได้อุณหภูมิที่สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส จึงจะถือว่ามีไข้ และยังอ้างอิงบทความวิชาการของต่างประเทศว่าในการวัด "อุณหภูมิร่างกาย" ของผู้ป่วยจะนับที่อุณหภูมิประมาณ 37.2 - 37.7 องศาเซลเซียส ถึงจะเรียกว่ามีไข้ ไม่มีทางที่ "อุณหภูมิร่างกายปกติ" จะต่ำว่า 36 องศาเซลเซียส 

หากใครยังสงสัยเรื่อง "อุณหภูมิร่างกายปกติ" และการเลือกใช้เครื่องวัดไข้ให้เหมาะสม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘อุณหภูมิร่างกายปกติ’ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ รู้ทัน ‘โควิด-19’‘เครื่องวัดอุณหภูมิ’ มีกี่ประเภท? ซื้อได้ที่ไหน? จำเป็นต้องมีไหม?

158529987390

158529816828

  • อาการไข้เกิดได้หลายสาเหตุ อย่าด่วนสรุป!

นอกจากนี้ยังข้อมูลจาก ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ไข้หรือตัวร้อน หมายถึง อุณหภูมิกายเพิ่มสูงกว่าปกติ หากเป็นอุณหภูมิที่วัดทางปากต้องสูงเกิน 37.2 องศาฯ เวลาที่มีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น 

สำหรับสาเหตุของ "อาการไข้" นั้นมีมากมาย และมีระยะเวลาที่ไข้จะปรากฏในแต่ละโรคจะยาวนานต่างกัน เช่น

- ไข้หวัดธรรมดา: ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดจมูก อาการไข้จะมีอยู่ ราว 3-4 วันก็หายไปหากไม่มีโรคแทรกซ้อน

- ไข้หวัดใหญ่: ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนขา ไข้อาจสูงถึง 40 องศาฯ อาการไข้ปรากฏอยู่ 3-5 วัน

- ไข้เลือดออก: มีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน ร่วมกับอาการซึม ใบหน้าแดง เบื่ออาหารอย่างมาก คลื่นไส้ อาจมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจาระสีดำ

- ไข้ไทฟอยด์: ผู้ป่วยจะมีไข้ ซึม ถ่ายอุจจาระเหลว หรือท้องผูก หากไม่รักษาจะมีไข้อยู่นาน 3 สัปดาห์ และมีโรคแทรกซ้อนทางลำไส้ เช่น แผลที่ลำไส้ ลำไส้ทะลุ ตับอักเสบ มีดีซ่าน เป็นต้น

- ปอดอักเสบหรือปอดบวม: มีไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วัน ต่อมามีอาการไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น หายใจเร็ว หายใจหอบ เบื่ออาหาร กินไม่ได้ โดยปกติผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลและอาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อแก้ไขภาวะเลือดขาดออกซิเจน

158529906755

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, FB Visroot chanpensri