การดูแลราคาและสินค้า ในยามวิกฤติ 'โควิด-19'

การดูแลราคาและสินค้า ในยามวิกฤติ 'โควิด-19'

เมื่อความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและรวดเร็ว นั่นคือวิกฤติ สิ่งที่ต้องทำคือ ควรใช้กลไกตลาดเท่าที่มีอยู่ ควบคุม ดูแลกันเอง โดยมีรัฐเป็นหน่วยตรวจตราและเป็นที่พึ่งให้ประชาชนในกรณีรั่วไหล มีการกักตุน เอาเปรียบ หรือเอากำไรเกินควร

กลไกตลาด คือ เครื่องมือสำคัญที่ทำให้การกระจายสินค้าเป็นไปอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันเป็นกลไกควบคุมราคาไปในตัวด้วย เพราะเมื่อมีผู้ค้าหลายราย มีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ ราคาจะปรับตัวไปสู่จุดที่เหมาะสมด้วยตัวเอง ดังนั้นผู้กำหนดราคาที่เหมาะสม คือ กลไกตลาด ไม่ใช่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ในกรณีหน้ากากอนามัยถือเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการว่าด้วยราคา และจำนวนสินค้าในสถานการณ์วิกฤติ จะด้วยเหตุผลใดเป็นอีกเรื่องที่ต้องไปหาคำตอบต่อไป แต่ก่อนอื่นภาครัฐต้องไม่คุ้นชินกับการใช้อำนาจเพื่อการกำกับดูแลสถานการณ์ หากแต่ควรใช้กลไกตลาดที่มีอยู่เป็นเครื่องทุ่นแรง

เมื่อความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและรวดเร็ว นั่นคือวิกฤติ สิ่งที่จะต้องทำไม่ใช่การกวาดสินค้าทั้งหมดไว้กับภาครัฐ แต่ควรใช้กลไกตลาดเท่าที่มีอยู่ ควบคุม ดูแลกันเอง โดยมีรัฐเป็นหน่วยตรวจตราและเป็นที่พึ่งให้ประชาชนในกรณีรั่วไหล มีการกักตุน เอาเปรียบ หรือเอากำไรเกินควร เพราะรัฐจะต้องดูแลประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นมีรายได้สูงหรือรายได้น้อย หรือแม้แต่ผู้ไม่มีรายได้เลยก็ยังต้องเข้าไปดูแล

ภายหลังการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ข้อสรุปว่าจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดนั้น จึงให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามส่งออกไข่ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา รวม 7 วันและหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะขยายเวลาเพิ่ม พร้อมประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อไม่ให้กรมปศุสัตว์ออกใบอนุญาตส่งออก

ปัจจุบันราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.80-2.90 บาทต่อฟอง การที่จะขายไปถึงปลายทางไม่ควรเกิน 3.30-3.50 บาทต่อฟอง แต่หากจำหน่ายราคาสูงมากกว่าที่ควรจะดำเนินการข้อหาค้ากำไรเกินควร ซึ่งโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ดูแลการกักตุนสินค้าและค้ากำไรเกินควรแล้ว และจะใช้ พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 ของกระทรวงมหาดไทยมากำกับดูแลด้วย

ดูเหมือนการดูแลกรณีไข่ไก่ราคาสูง รัฐกำลังมาถูกทาง ทั้งการอุดรอยรั่ว ด้วยการห้ามส่งออก การเพิ่มกำลังการผลิตโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการตั้งหน่วยคุ้มกันดูแลประชาชนหากถูกเอารัดเอาเปรียบหรือเกิดการกักตุน แต่จนแล้วจนรอดผลประโยชน์อยู่ตรงหน้าและผลกำไรที่รออยู่จึงทำให้มีผู้กระโดดเข้ามาร่วมวง การจัดการทั้งหมดอาจสูญเปล่าหากไม่รับความร่วมมือจากประชาชน เพื่อทำให้การดูแลราคาและสินค้าให้มีจำนวนที่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งเราทุกคนต้องช่วยกัน