มธ. ผุด ‘TU COVID-19’ แอปพลิเคชัน ‘สอบโรค’

มธ. ผุด ‘TU COVID-19’ แอปพลิเคชัน ‘สอบโรค’

มธ.พัฒนาโปรแกรม TU COVID-19 ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำปรึกษาโดยบุคลากรโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ดร.ปกป้อง ส่องเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ (สทส.) เปิดเผยว่า มธ.ได้พัฒนาโปรแกรมเฝ้าระวังและติดตามอาการของนักศึกษาและบุคลากรที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ในชื่อว่า TU COVID-19

158522012536

ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมคนจำนวนมาก  โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สํานักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะแพทยศาสตร์  คณะสาธารณสุขศาสตร์  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล และกองกิจการนักศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ปกป้อง กล่าวว่า การทำงานของ TU COVID-19 จะคล้ายคลึงกับ Thammasat​ University​ Official​ Line​ (@thammasatu)  ซึ่งนักศึกษาและบุคลากรจะต้องเข้าไปเพิ่มเพื่อนที่ @tucovid19 ก่อน จากนั้นให้ลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่อรับบริการตั้งแต่ข้อมูลสถานการณ์ประจำวัน การคัดกรองและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ไปจนถึงการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ตำแหน่งการเดินทาง และการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ผ่านทั้งแชทบอท (CHATBOT) และการตอบคำถามจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

“เดิมเราพบว่ามีนักศึกษาที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดและมีการกักตัว ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้โทรศัพท์และไลน์เพื่อติดตามอาการในระหว่างการกักตัวว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยเรามีฟอร์มให้เขากรอกเพื่อรายงานตัวทุกวัน แต่ปัญหาคือหากจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นจะเป็นเรื่องยากในการติดตาม จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบขึ้นมารองรับ” ดร.ปกป้อง กล่าว

158522012622

ดร.ปกป้อง กล่าวต่อไปว่า แอปพลิเคชัน TU COVID-19 จะมีระบบแจ้งเตือนไปยังสมาชิกกลุ่มเสี่ยงทุกคนเพื่อให้รายงานอาการในแต่ละวันเข้ามาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล ขณะเดียวกันก็จะมอนิเตอร์คำถามต่างๆ เข้ามาจัดเป็นหมวดหมู่ หรือแม้แต่กรณีที่ผู้มีความเสี่ยงไปตรวจและผลออกมาว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ก็สามารถเข้ามาอัพเดทข้อมูลตัวเองได้

158522012559

“โปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้บริหารของ มธ.เห็นภาพรวมและเข้าใจสถานการณ์ นำไปสู่การกำหนดนโยบายได้อย่างทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น ขณะที่ทีมงานที่ดูแลนักศึกษาก็จะเข้าถึงผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ส่วนคนที่ยังไม่ป่วยก็จะเข้ามาติดตามข้อมูลรายวันและทะเบียนอัพเดทอาการตัวเองไว้ได้ ที่สุดแล้วประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายหากทุกคนช่วยรับผิดชอบตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคม” ดร.ปกป้อง กล่าว

ทั้งนี้ ในเฟสที่ 1 ของการพัฒนาโปรแกรมจะเน้นไปที่การให้นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเข้าถึงแอปพลิเคชัน โดยเนื้อหาก็ยังเป็นติดตามอดีตและปัจจุบันคือ อาการ พฤติกรรม และความเสี่ยง แต่ในเฟส 2 หลังจากนี้ มธ.ต้องการเฝ้าระวังให้ถึงอนาคต คือจะมีการลงไปพูดคุยกับผู้ติดเชื้อเพื่อให้ทราบข้อมูลว่าตลอดระยะเวลาในอดีต ที่คาดว่าผ่านความเสี่ยงติดเชื้อมาไม่ว่าจะเป็นการพบปะหรือเดินทางไปในสถานที่ใดบ้าง จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผล ก่อนจะแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อด้วย

158522012677

“เราจะไปให้ถึงการสืบโรคเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้เราตามหาคนที่มีโอกาส มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น โดยตรงนี้คณาจารย์ธรรมศาสตร์จากหลายภาคส่วนจะเข้ามาร่วมกันวิเคราะห์และเขียนผังขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยขึ้นมา” ดร.ปกป้อง กล่าว