สธ.ห่วงแนวโน้มติดโควิด-19ในบ้าน

สธ.ห่วงแนวโน้มติดโควิด-19ในบ้าน

สธ.ห่วงแนวโน้มติดโควิด-19ในบ้าน พบกลุ่มสนามมวยทำเด็ก-คนแก่ติดโรค จับตาพิเศษพื้นที่ใต้ตอนล่างน่าห่วง อัตราแพร่เชื้อรองจากกทม. ช่วง 7 วันพบผู้ป่วยเพิ่ม 64 ราย กระจาย 6 จังหวัด

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (26 มี.ค.63) นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 111 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 29 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 6 ราย ,สถานบันเทิง 3 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 19 ราย และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย ในจังหวัดปัตตานี

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 19 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 6 ราย เป็นคนไทย 5 รายต่างชาติ 1 รายชาวอเมริกา กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 9 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย เนื่องจากผู้ป่วยไม่แจ้งประวัติกับบุคลการทางการแพทย์ว่าไปในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 1 ราย

และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลแล็บยืนยันว่าพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 63 ราย ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสม 1,045 ราย และเสียชีวิต 4 ราย มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 18 รายรวมจำนวนกลับบ้านแล้ว 88 ราย ยังคงมีอาการรุนแรง 4 ราย และมีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 953 ราย

“บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคอยู่แล้วเพราะหากนับรวมขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้วทั้งหมด 9 ราย แต่เท่าที่สอบสวนโรคพบว่ากว่าครึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเกิดจากผู้ป่วย ไม่ได้ให้ประวัติการสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงที่ครบถ้วนหรือบางครั้งอาการผู้ป่วยมาด้วยอาการคล้ายไข้เลือดออก ดังนั้นจากนี้จะต้องมีการป้องกันกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์อย่างเข้มข้นมากขึ้น” นายแพทย์อนุพงศ์กล่าว

158528817891

  • คาดสิ้นเม.ย.ผู้ป่วยแตะ3.5พัน

นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวอีกว่า จุดเปลี่ยนของไทยภายหลังวันที่ 15 มีนาคม 2563 มีรายงานจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่หลักสิบเป็นหลักร้อย โดยตัวเลขที่เพิ่มก็มาจาก 3 เหตุการณ์หลัก คือ สถานบันเทิง สนามมวย และการไปร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งการคาดการณ์หากผู้ป่วยรายใหม่ยังเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละประมาณ 100 รายไปเรื่อยๆจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 จะทำให้มีผู้ป่วยถึง 3,500 ราย แต่หากประชาชนช่วยกันป้องกันตัวเอง เว้นระยะห่าง และทำตามมาตรการที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนด ก็จะช่วยทำให้หน่วงสถานการณ์หรือชะลอจำนวนผู้ป่วยลงได้ โดยเป้าหมายคือมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นหลัก 10 รายต่อวัน

  • กลุ่มมวยแพร่เชื้อเข้าบ้าน

นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยยืนยันในกลุ่มก้อนของสนามมวย ซึ่งรวมทั้งผู้ที่เดินทางไปสนามมวยโดยตรงและผู้ที่สัมผัสจากผู้ที่ไปสนามมวย ในพื้นที่กรุงเทพฯพบผู้ป่วย 86 ราย จังหวัดอื่นๆ 67 ราย ในกลุ่มผู้ที่ไปสนามมวยโดยตรงมีอายุตั้งแต่ 20 ปีถึงมากกว่า 70 ปี นอกจากนี้ พบว่า มีผู้ที่ติดเชื้อจากกรณีสนามมวย โดยไม่ได้เดินทางไปสนามมวยโดยตรง แต่ติดจากการสัมผัสผู้ป่วยที่ไปสนามมวยด้วย โดยพบอายุน้อยสุดต่ำกว่า 10 ปี และอายุสูงสุดคือมากกว่า 70 ปี เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการพบผู้ป่วยที่เป็นผู้สัมผัสจากผู้ป่วยที่ไปสนามมวยมาโดยตรง ซึ่งจำนวนต่อวันพบกลุ่มเด็กมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นการแพร่เชื้อเข้าสู่บ้าน จึงต้องมีการเข้มเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างของคนในบ้านด้วย

158521536384

  • ห่วงพื้นที่ใต้ตอนล่าง

นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีตัวเลขผู้ป่วยและอัตราแพร่เชื้อสูงที่สุดแล้ว อีกพื้นที่ที่มีความน่ากังวลมากกกว่าพื้นที่อื่นๆ คือ จังหวัดภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่พัทลุงลงไป หรืออยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเขตสุขภาพที่ 12 เนื่องจากมีการพบผู้ป่วยจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ กลับจากสนามมวยและการไปร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย โดยวันที่ 18 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยในพื้นที่ 16 ราย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพิ่มเป็น 80 ราย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุงและตรัง จะเห็นว่าในช่วง 7 วันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 64 ราย ทำให้มีอัตราแพร่เชื้อใน 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และภูเก็ตอยู่ที่ 1 ต่อ 2.2 คือ 1 คนแพร่ไปได้อีกราว 2 คน อัตราแพร่เชื้อสูงรองจากกรุงเทพฯอยู่ที่ 1 ต่อ 3.4 และจังหวัดอื่นๆอยู่ที่ 1 ต่อ 1.8