'เพื่อไทย' ชงโยกงบ 63 สู้โควิดแทนกู้เงิน

'เพื่อไทย' ชงโยกงบ 63 สู้โควิดแทนกู้เงิน

เพื่อไทย เสนอโยกงบ63 สู้โควิดแทนกู้เงิน ชี้ แค่ชะลอโครงการซื้ออาวุธและสภาใหม่

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิดในครั้งนี้ ว่า ตนเองต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและดำเนินการตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมด แม้จะยังไม่ครบทุกข้อก็ตาม แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้จะเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ผ่านวิกฤติในช่วงนี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนเองเป็นห่วงก็คือมาตรการทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเยียวยาจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันกับที่รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า และ จีดีพีปีนี้จะติดลบอย่างแน่นอน

ดังนั้นเงินที่จะนำมาใช้กับมาตรการชดเชยรายได้ให้กับประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลจะขอสินเชื่อเงินกู้แน่นอน ซึ่งหากจำเป็นจะกู้ก็ต้องกู้ ขอเพียงรัฐบาลมีวินัยทางการเงินและกู้ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อเป็นการลดภาระของลูกหลานในอนาคต

แต่ที่สำคัญ อยากเสนอแนะให้รัฐบาลใช้เงินตัวเองก่อน ด้วยการชะลอการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็นและโยกเงินเหล่านี้มาใช้ในมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดการกู้เงินลงไปให้น้อยที่สุด

“หากดูรายละเอียดของงบประมาณปี 63 จะเห็นว่ามีงบประมาณอยู่หลายหมวดที่เชื่อว่าสามารถเจรจาเพื่อชะลอโครงการออกไปก่อน เช่นโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม การสร้างอาคารสถานที่ราชการใหม่ การเช่าซื้อรถประจำตำแหน่งใหม่ งบฝึกศึกษาอบรมในต่างประเทศ เป็นต้น และผมเชื่อว่าหากเอ็กซเรย์ดีๆจะพบงบประมาณอื่นๆอีกหลายหมวดที่ชะลอได้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และรีบเร่งขอชะลอโครงการ รัฐบาลจะสามารถโยกงบมาสนับสนุนมาตรการฉุกเฉินต่างๆได้ทันทีโดยไม่ต้องกู้ หรือกู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น”

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า เมื่อวานนี้ตนเองได้เข้าประชุมคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เพื่อร่วมกันสอบสวนกรณีหน้ากากอนามัยขาดตลาดและมีราคาแพง ซึ่งจากการฟังผู้ชี้แจงมาให้ข้อเท็จจริงนั้น พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ

โดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายก่อนการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมในวันที่ 5 ก.พ. นั้น ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ถึงวันที่ 4 ก.พ.ซ ปรากฎว่ามีการรีบเร่งส่งออกหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมหาศาลถึง 200 กว่าตัน หรือคิดเป็น 70 กว่าเปอร์เซนต์ของปริมาณส่งออกทั้งหมดของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

“คำถามที่สงสัยก็คือ ทำไมอาทิตย์สุดท้ายก่อนประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ที่ต้องขอใบอนุญาตส่งออก บริษัททั้งหลายจึงรีบส่งออกหน้ากากอนามัยปริมาณมหาศาลมากกว่า 200 ตัน ออกนอกประเทศ เหมือนกับจะทราบล่วงหน้าว่าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จะส่งออกเสรีไม่ได้ ทั้งๆที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พึ่งออกมายืนยันเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ประเทศไทยมีสต็อคหน้ากากอนามัยเพียงพอกับคนทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นความจริงทันทีถ้ามันไม่ถูกส่งออกไป แต่สุดท้ายก็ถูกรีบเร่งส่งออกไปทั้งหมด ทำให้อุปกรณ์พื้นฐานในการป้องกันตัวเองของคนไทยขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นมาทันที”

“เฉพาะวันที่ 1 - 4 ก.พ.มีปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยถึง 135 ตัน หรือคิดเป็นจำนวนหลายร้อยล้านชิ้น ผมไม่เชื่อว่าหน่วยงานราชการจะไม่ทราบ โดยเฉพาะก่อนประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม หน่วยงานต่างๆต้องประชุมกันอย่างละเอียดถึงความจำเป็นที่ต้องมีหน้ากากอนามัยใช้อย่างเพียงพอภายในประเทศ เมื่อมีปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยสูงผิดปกติตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม

ทำไมจึงปล่อยไปเรื่อยๆไม่รีบประกาศควบคุม แต่ไปประกาศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หลังหน้ากากอนามัย 200 กว่าตัน ถูกส่งออกนอกประเทศไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ ผมและคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.จะเกาะติดเรื่องนี้ต่อไป และจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าคณะกรรมาธิการทุกคนจะร่วมกันกระชากหน้ากากขบวนการหาผลประโยชน์บนความทุกข์ของคนไทยทั้งประเทศในครั้งนี้ออกมาให้ได้” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว