ทำไม? ต้องมี 'รพ.สนามแพทย์' เพื่อผู้ป่วยโควิด-19

ทำไม? ต้องมี 'รพ.สนามแพทย์' เพื่อผู้ป่วยโควิด-19

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ สนามแพทย์แห่งแรก รับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 4 รายได้เข้ารับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ ก่อนถูกส่งมาเพื่อสังเกตอาการจนผลตรวจหาเชื้อเป็นลบ ก่อนให้กลับบ้านต่อไป

ล่าสุด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ 5 สถาบันคือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม โดยได้ใช้อาคารดีลักซ์ธรรมศาสตร์ 14 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารหอพักบุคลากรและบุคคลภายนอก เป็นสถานที่ในการดำเนินการ

นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติพร้อมช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อทางรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขยายโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เนื่องจากเวลานี้โรงพยาบาลของสธ.มีพื้นที่รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงพอ ซึ่งอาคารที่ใช้รองรับผู้ป่วยเป็นอาคารภายในด้านหลังของมหาวิทยาลัย เป็นอาคารหอพัก 14 ชั้น มีความเหมาะสมต่อการจัดพื้นที่รองรับได้มาตรฐาน 

158519818948

“โดยในส่วนของการดำเนินการต่างๆ รวมถึงยาเวชภัณฑ์ และแพทย์ ทางโรงพยาบาลจะรับผิดชอบในเบื้องต้น เมื่อปริมาณผู้ป่วยสูงขึ้น อาจจะต้องให้บุคลากรจากโรงพยาบาลเครือข่ายมาช่วยสนับสนุน โดยมั่นใจว่าบุคลากรล้วนมีความสามารถในการบริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 อธิการบดีมธ. กล่าว

ทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 308 เตียงในพื้นที่มหาวิทยาลัยภายใน 48 ชั่วโมง โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีศักยภาพเพียงพอที่จะรับดูแลผู้ป่วยมากกว่า 308 คน ที่จัดเตรียมในเบื้องต้น

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่าขณะนี้ทางโรงพยาบาลสนาม ได้มีมีผู้ป่วย 4ราย โดยรับการรักษามาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลวชิระพยาบาล ซึ่งมีอาการเล็กน้อยดูแลช่วยเหลือตัวเองได้แล้วจะถูกส่งมาที่นี่เพื่อสังเกตอาการจนผลตรวจหาเชื้อเป็นลบ ก่อนให้กลับบ้านต่อไป

ทั้งนี้ อาคารที่ใช้นั้น เป็นอาคารดีลักซ์ธรรมศาสตร์ หรืออาคารหอพักเอเชียนเกมส์เก่า ซึ่งมีความสูง 14 ชั้น มีทั้งหมด 308 ห้อง ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมทั้งด้านในและด้านนอกห้องพัก เพื่อใช้ติดตามอาการของผู้ป่วย  รวมถึงกำลังจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับผู้พักอาศัยเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และนักกีฬาของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย

158519818695

ในส่วนของการดำเนินการหากมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินั้น จะมีขั้นตอนในการดูแลรักษา โดยจะให้ผู้ป่วยโควิด-19 พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และหากมีอาการหนักหรือรุนแรงก็จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภายในห้องความดันลบ (Nagative pressure) ส่วนผู้ป่วยอาการที่ไม่รุนแรงจะอยู่ในห้อง Cohort ward ซึ่งเป็นห้องรวมกับผู้ป่วยโควิด-19 ท่านอื่น ซึ่งจะมีระบบการฆ่าเชื้อด้วย UV เมื่อได้รับการดูแลรักษาและสังเกตอาการพบว่าอาการดีขึ้นแล้ว ทางโรงพยาบาลจะส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติต่อไป

“สำหรับการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะรับผู้ป่วยที่ผ่านการสังเกตอาการจากโรงพยาบาลหลักเป็นเวลา 48-72 ชั่วโมง หากพบว่าอาการไม่รุนแรง ก็จะถูกส่งตัวมาพักรักษาและติดตามอาการต่อเนื่อง หรือว่ากักกันตัวต่อจนครบ 14 วัน หรือจนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้น ก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที "รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

158519818899

เบื้องต้นโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในเครือข่าย 5 แห่ง คือโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลวชิระ

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ทั้งนี้ โรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีความร่วมมือกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจาก COVID-19 เป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลให้ความสำคัญและให้ความสนใจ และให้การสนับสนุนโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ รัฐบาลมีงบประมานเพียงพอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า ประชาชนทุกท่านจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด.และจะมีการแถลงข่าวทุกๆวันในเวลา 09.00น

ที่ผ่านมา ในส่วนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ 60 เตียง และมีห้องความดันลบอีก 4 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 3 คน ในจำนวนนี้อาการหนักอยู่ในห้องความดันลบ 2 คน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนสามารถร่วมสมทบทุน เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เช่น หน้ากาก N95 และชุดป้องกันการติดเชื้อ หรือชุด PPE โดยสามารถบริจาคเงินผ่านบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขาธรรมศาสตร์รังสิต ชื่อบัญชี รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (กองทุนบริจาค) เลขบัญชี 050-2-00002-9 เงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยส่งหลักฐานการบริจาคเงินไปที่ ID Line:06 5054 2565 หรือe-mail:[email protected]

ด้าน ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าคณะแพทย์มช. และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่หรือโรงพยาบาลสวนดอก ขณะนี้ได้มีการเตรียมซักซ้อมบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับมายังภูมิลำเนา จ.เชียงใหม่

158519818865

ดังนั้น ทางโรงพยาบาลได้ร่วมมือกับหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ติดตามดูแลผู้ที่เดินทางกลับมายังภูมิลำเนา และคงปฏิบัติตามหลักของการดูแล ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองจุดเข้าออกโรงพยาบาล การฆ่าเชื้อ การทำความสะอาด การดูแลปฏิบัติของบุคลากรทุกคนต่างทำงานหนักเพื่อป้องกันโควิด -19 ให้มีการแพร่ระบาดน้อยที่สุด โรงพยาบาลจะได้รับมือได้

“ตอนนี้อยากขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันอยู่บ้าน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ลดการออกไปในพื้นที่แออัด ดูแลตัวเอง และติดตามดูว่าตัวเองมีอาการไข้หรือไม่  เพราะตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าเราติดหรือไม่ติด เนื่องจากหากอยู่ในช่วงที่ไม่มีอาการก็จะไม่ทราบได้ ดังนั้น ทุกคนต้องดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย โดยเฉพาะครอบครัวไหนที่มีผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงไปอยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ งดออกไปทำกิจกรรมข้างนอก และถ้ามีอาการผิดปกติ รีบไปพบแพทย์”ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าว