ดาวโจนส์ปิดบวก ขานรับคองเกรสไฟเขียว แผนเยียวยาโควิด-19

ดาวโจนส์ปิดบวก ขานรับคองเกรสไฟเขียว แผนเยียวยาโควิด-19

ดาวโจนส์ปิดบวกขานรับคองเกรสไฟเขียวแผนเยียวยาโควิด-19 ขณะที่นักลงทุนยังจับตาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ ล่าสุด สหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 600 ราย

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพุธ(25มี.ค.)ทะยานเกือบ 500 จุด ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้ ขานรับปัจจัยบวกจากการที่ทำเนียบขาวและวุฒิสภาสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเผชิญกับภาวะถดถอยจากผลกระทบของโควิด-19

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 495.64 จุด หรือ 2.39% ปิดที่ 21,200.55 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 28.23 จุด หรือ 1.15% ปิดที่ 2,475.56 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 33.56 จุด หรือ 0.45% ปิดที่ 7,384.30 จุด

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวและแกนนำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาสามารถบรรลุข้อตกลงในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวมีวงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่ง มาตรการดังกล่าวครอบคลุมการจัดสรรเงินกู้วงเงิน 3.67 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และสนับสนุนโครงการที่จะจัดสรรเงินให้แก่กระทวงการคลังในวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ชาวอเมริกัน ที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับเงินสดโดยตรงคนละ 1,200 ดอลลาร์ ขณะที่เด็กจะได้รับเช็คเงินสดคนละ 500 ดอลลาร์ ส่วนโรงพยาบาลต่างๆจะได้รับการจัดสรรเงินรวม 1.50 แสนล้านดอลลาร์ภายใต้มาตรการดังกล่าว และธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับเงินช่วยเหลือในวงเงินรวม 3.67 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ โดยล่าสุด สหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 600 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนจะร่วงลง 0.8% ในเดือนก.พ.

การเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนก.พ. ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อรถยนต์และรถบรรทุก

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงแผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.8% ในเดือนก.พ.