'ธุรกิจอาหาร' ป่วน หวั่นเป็นเหยื่อ 'โควิด-19'

'ธุรกิจอาหาร' ป่วน หวั่นเป็นเหยื่อ 'โควิด-19'

ขณะที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังล็อกดาวน์ จะเหลือก็แต่ธุรกิจอาหารที่ยังคงเดินหน้าไปตามปกติ ด้วยเหตุผลที่ว่าคนเราต้องกิน ก็เริ่มเกิดคำถามตามมาว่า ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือ?

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่ลามไปทั่วโลก จนทำให้หลายประเทศตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศ สั่งระงับกิจกรรมทางธุรกิจ เศรษฐกิจและการรวมตัวของผู้คนในสถานที่ต่างๆ ยกเว้น ธุรกิจอาหารที่ยังคงเดินหน้าไปตามปกติ ด้วยเหตุผลที่ว่าคนเราต้องกิน ท่ามกลางคำถามมากมายว่า การยกเว้นธุรกิจอาหารซึ่งเท่ากับยกเว้นการกักกันบุคลากรในธุรกิจอาหารในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั่วโลกนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือ?

แรงงานในธุรกิจอาหารส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเหล่านี้และพยายามต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากการต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในช่วงที่ผู้บริโภคทั่วโลกหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางออกไปหาซื้ออาหารตามร้าน

ขณะนี้ หลายประเทศในอเมริกาใต้ ดำเนินมาตรการตอบโต้ด้วยการตัดสินใจยุติการผลิตสินค้าเกษตรกรรม ขณะที่สหภาพแรงงานหลายกลุ่มขู่ว่าจะผละงานประท้วงเรื่องนี้ เพราะวิตกกังวลว่าหากเดินหน้าให้บริการลูกค้าต่อไปจะไม่เป็นการปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเอง ส่วนแรงงานในธุรกิจสัตว์ปีกบางแห่งในสหรัฐ ตัดสินใจผละงานเรียบร้อยแล้ว

สหภาพแรงงานหลายกลุ่มขู่ว่าจะผละงานประท้วงเรื่องนี้ เพราะวิตกกังวลว่าหากเดินหน้าให้บริการลูกค้าต่อไปจะไม่เป็นการปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐและในอเมริกาใต้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรูปแบบที่เหมาะสม และสมดุล เนื่องจากแรงงานในแต่ละภาคส่วนล้วนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การที่ยกเว้นธุรกิจอาหารให้ทำหน้าที่ต่อไปท่ามกลางการล็อกดาวน์ของแทบทุกประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งในกลุ่มแรงงานที่วิตกกังวลว่าจะเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐเท่านั้น ในบราซิล สหภาพแรงงานกลุ่มหนึ่ง สามารถผลักดันให้มีการปิดโรงงานไก่แปรรูป 2 แห่งของบริษัทเจบีเอส เอสเอ ได้สำเร็จ หลังจากนำเสนอหลักฐานต่อผู้พิพากษาได้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่การทำงานในโรงงานทั้ง 2 แห่งจะทำให้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ส่วนในสหรัฐ “เพอร์ดู ฟาร์ม” ซึ่งถือเป็นฟาร์มไก่รายใหญ่สุดในสหรัฐ พยายามเจรจาต่อรองกับคนงาน หลังจากคนงานกว่า 20 คนที่โรงงานในรัฐจอร์เจียผละงาน

“คนงานที่กล้าหาญเหล่านี้ตัดสินใจผละงานเพื่อปกป้องตัวเอง” เด็บบี้ เบอร์โควิทซ์ ผู้อำนวยการด้านสุขภาพและความปลอดภัยแรงงานจากเนชั่นแนล เอมพลอยเมนท์ ลอว์ โปรเจค กล่าว

ทั้งนี้ในบราซิล โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งปลูกพืชเกษตรทั้งหลาย ต่างพากันระงับการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังเมืองที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ อย่างกรณีนายกเทศมนตรีเมืองคานารานา ในรัฐมาโต กรอสโซ ประกาศยุติการขนส่งเมล็ดพันธุ์พืชทุกชนิด ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองรอนโดโนโพลิส สั่งให้โรงสีทั่วประเทศยุติการสีข้าว

ในบราซิล โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งปลูกพืชเกษตรทั้งหลาย ต่างพากันระงับการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังเมืองที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่

ขณะที่สถานการณ์ในอาร์เจนตินาก็รุนแรงไม่แพ้กัน ล่าสุด ประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติว่านับตั้งแต่เที่ยงคืนเข้าสู่วันศุกร์ที่ 20 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น จนกระทั่งถึงวันที่ 31 มี.ค. นี้ รัฐบาลจะบังคับใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วประเทศ

นั่นหมายความว่าชาวอาร์เจนตินาทุกคนห้ามออกนอกเคหะสถาน ยกเว้นเมื่อมีกิจธุระจำเป็น เช่น การออกไปซื้ออาหารซื้อยา และไปทำงาน โดยผู้ที่สัญจรตามท้องถนนจะอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

อาร์เจนตินา ระงับการผ่านแดนของพลเมืองต่างชาติทุกคนตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. โดยยกเว้นเฉพาะผู้มีถิ่นพำนักถาวร นักการทูต และเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ พร้อมทั้งระงับเที่ยวบินที่มาจากกลุ่มประเทศเสี่ยง อย่างอิตาลี เป็นเวลา 30 วัน

ปัจจุบัน อาร์เจนตินามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมอย่างน้อย 128 ราย รักษาหายแล้ว 3  ราย แต่เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการอาร์เจนตินา จึงมีคำสั่งห้ามรถบรรทุกที่ขนส่งพืชเกษตรประเภทต่างๆ จากพื้นที่เสี่ยงแพร่ระบาดของไวรัสเข้าประเทศ ขณะที่สหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ พยายามเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยสร้างหลักประกันว่าแรงงานในธุรกิจอาหารและธุรกิจอื่่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารจะปลอดภัย

ขณะที่โคลอมเบีย ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้ประธานาธิบดีออกพ.ร.ก.ที่อนุญาติให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตรสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ ซึ่งมีนายกเทศมนตรีของบางเมือง ไม่ปฏิบัติตามพ.ร.ก.ดังกล่าว