ธปท.จ่อถกลดดอกเบี้ย‘บัตร-พีโลน’

ธปท.จ่อถกลดดอกเบี้ย‘บัตร-พีโลน’

“ธปท.”ประกาศออก “มาตรฐานกลางขั้นต่ำ” ช่วยลูกหนี้ดี 6 กลุ่ม ลดผลกระทบโควิด-19 ทั้งเลื่อนจ่ายเงินต้น-ดอกเบี้ย ลดวงเงินจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ยาว2ปี มีผล 1เม.ย.นี้ ด้านธุรกิจบัตรเครดิตจ่อหารือธปท.ถกปรับเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจและภาคประชาชน สถาบันการเงินแต่ละแห่งจึงออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของตนเองลดผลกระทบดังกล่าว แต่มาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกประกาศมาตรฐานการช่วยเหลือที่เป็นมาตรฐานกลาง และเป็นมาตรการขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และนอนแบงก์นำไปปฏิบัติ 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า จากสถานกรณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ธปท.จึงได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลลูกหนี้ เพราะมองว่าการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 

ธปท.จึงร่วมกับ 9 หน่วยงาน ที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สมาคมธนาคารเฉพาะกิจ  และลิสซิ่ง  เป็นต้น ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน

158514721013

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ปกติ และอาจไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เช่นพนักงานประจำ ที่อาจไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากธนาคาร กลุ่มนี้ให้ธนาคารแต่ละแห่ง และผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆมีการคิดเงื่อนไขพิเศษตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ด้วย

ทั้งนี้สำหรับการออกมาตรฐานขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ดี ครอบคลุมสินเชื่อ 6 ประเภท ประกอบด้วย 1.สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน โดยแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนี้คือ ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่ปี 2563-2564 และในปี 2565 อัตราผ่อนขั้นต่ำจะอยู่ที่ 8% และในปี 2566 อัตราผ่อนขั้นต่ำจะกลับเข้าสู่ระดับปกติที่ 10%

2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดย ธนาคาพาณิชย์ แบงก์รัฐ จะมีการเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือพักหนี้เป็นระยะเวลา 3เดือน ขณะที่ผู้ให้บริการด้านผู้ให้บริการอื่นๆ สามารถเลือกแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ได้สองแนวทาง ระหว่างเลื่อนชำระเงินต้น ดอกเบี้ย 3เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของงวดเดิมเป็นระยะเวลา 6 เดือน

3.สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่่อรถมอร์เตอร์ไซด์ วงเงินไม่เกิน35,000 บาท และรถทุกประเภทวงเงินไม่เกิน 2.5แสนบาท กำหนดให้ผู้ให้บริการ เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไป 3เดือน หรือพักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา6 เดือน 4. ลิสซิ่ง มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3ล้านบาท ให้ผู้ให้บริการเลือกช่วยเหลือ ระหว่างเลื่อนการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3เดือน หรือพักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน

5.สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3ล้านบาท ให้ผู้บริการเลือกช่วยเหลือระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไป 3เดือน หรือพักชำระหนี้เงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน และ 6. สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไมโครไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น 3เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย ซึ่งทั้ง 6 มาตรการจะมีผลทันทีในวันที่ 1เม.ย.นี้

นายวิรไท กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีหลายคนพยายามติดต่อแบงก์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากผลกระทบที่เป็นวงกว้าง ดังนั้น มาตราฐานขั้นต่ำนี้จะช่วยลดภาระพี่น้องประชาชน ช่วยลดความกังวลลงได้ในระยะข้างหน้า

“สิ่งที่เราอยากย้ำคือ การช่วยเหลือผ่านมาตรฐานขั้นต่ำเหล่านี้ จะไม่มีผลต่อเครดิตบูโร ซึ่งสถานะจะเป็นลูกหนี้ปกติต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ต้องกังวลซึ่งธปท.เชื่อว่าโครงการนี้ จะช่วยลดภาระพี่น้องประชาชน และกลุ่มเอสเอ็มอีได้มาก ในภาวะที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเผชิญมากก่อน ”

สำหรับการออกมาตรการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันมีลูกหนี้ที่เข้ารับการช่วยเหลือจากแบงก์แล้ว 1.56 แสนราย วงเงินรวมกว่า 3.1แสนล้านบาท จากสองสัปดาห์แรกของเดือนมี.ค. ที่มีการช่วยเหลือเพียง 3หมื่นราย หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 2แสนล้านบาท

แหล่งข่าววงการการเงิน เปิดเผยว่า ในการหารือเพื่อออกมาตรฐานขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ดีในครั้งนี้ ทางธปท.อยากให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน พิจารณาปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลลงด้วย จากปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคลมีเพดานอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 28% และสินเชื่อบัตรเครดิต มีเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่  18%  

อย่างไรก็ตามยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้  โดยธปท.ได้ให้ผู้ให้บริการทางการเงิน และ ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ไปหารือเพิ่มเติม ว่าจะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพื่อลดภาระทางการเงิน และจูงใจให้กลุ่มนี้ชำระปกติ โดยจะสามารถพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงได้หรือไม่

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งว่า ธนาคารพร้อมดำเนินการตามมาตรการของธปท.โดยในส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น ปรับลดวงเงินชำระขั้นต่ำตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป โดยลูกค้าไม่ต้องแจ้งรายบุคคล,สินเชื่อรถยนต์เลื่อนค่างวด3เดือน สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเอสเอ็มอี พักชำระเงินต้นเป็นเวลา4เดือน สามารถติดต่อยื่นคำร้องได้ทางช่องทางของธนาคารฯ