แตกตื่นหรือเตรียมตัว?

แตกตื่นหรือเตรียมตัว?

ในสถานการณ์โควิด-19 มักจะมีคนอยู่ 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ไม่ให้ความสำคัญนัก กับกลุ่มที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และเตรียมพร้อมระมัดระวังล่วงหน้า ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นพวกแตกตื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มนี้กลับได้รับคำชมว่าเตรียมตัว เตรียมพร้อมได้อย่างดี

ภายใต้ความไม่แน่นอนของ Covid-19 ทำให้เห็นพฤติกรรมของคนรอบๆ ตัวที่แตกต่างกันออกไป โดยมีคน 2 กลุ่มที่มีพฤติกรรมที่โดดเด่นแตกต่างจากคนทั่วๆ ไป กลุ่มแรกเป็นสายชิลที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในขณะนี้เท่าใด ก่อนที่จะมีประกาศปิดต่างๆ จากทางราชการนั้น คนกลุ่มนี้ยังนิยมออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะดูกีฬา ดูคอนเสิร์ต ไปสถานบันเทิงไปตลาด ฯลฯ และมักจะมองว่า Covid -19 เป็นเพียงแค่ไข้หวัดธรรมดา

ในฝั่งตรงข้ามก็มีคนอีกกลุ่มที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อมและระมัดระวังไว้ล่วงหน้า คนกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงแค่สวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอลเท่านั้น แต่จะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เช่น พกถุงพลาสติกใสไว้ใส่ธนบัตรและเหรียญที่เป็นเงินทอนที่ได้รับ เพื่อไม่ให้มือต้องไปสัมผัสหรือเมื่อได้รับบัตรเครดิตกลับมาก็จะนำมาเช็ดแอลกอฮอลทันที หรือเมื่อกลับมาถึงบ้านจะถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออกที่หน้าบ้านแล้วใส่ถุงพลาสติกเพื่อนำไปซักฆ่าเชื้อทันทีคนกลุ่มนี้ยังเตรียมสำรองทั้งเวชภัณฑ์อาหารรวมถึงของใช้ประจำวันไว้ล่วงหน้าก่อนผู้อื่นไว้หลายสัปดาห์จนถึงขั้นบางบ้านต้องซื้อตู้แช่อาหารมาเพิ่มเติมทีเดียว

กลุ่ม 2 ที่ดูระมัดระวังอย่างเต็มที่นั้น ในระยะแรกมักจะถูกแซวจากคนรอบตัวว่าเป็นพวก “แตกตื่น (ตื่นตูม) หรือเตรียมตัว (ตื่นตัว)” กันแน่? แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนกลับจะได้รับความชื่นชมมากว่าเป็นผู้ที่เตรียมตัวและเตรียมพร้อมอย่างดีแถมยังย้อนกลับมาว่าด้วยว่า “Only the paranoid survive”

ทำให้นึกถึงหนังสือ Only the paranoid survive ของ Andy Grove อดีตซีอีโอของ Intel ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.1988 และกลายเป็นหนังสือทางด้านการจัดการที่ขายดีมากและเป็นตำนานไปแล้วเล่มหนึ่ง เคยมีผู้แปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ ผู้ตื่นตัวเท่านั้นที่จะอยู่รอด ซึ่งถ้าได้ย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ จะพบว่าเป็นเนื้อหาที่ยังมีความทันสมัยเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน (ทั้งก่อนมี Covid-19 และหลังการระบาด) เป็นอย่างยิ่ง

เริ่มต้นนั้น Andy Grove ระบุไว้ว่าองค์กร (จริงๆ ประเทศด้วย) จะต้องเผชิญกับสิ่งที่เขาเรียกว่า Strategic Inflection Points (SIPs) ซึ่งคือปัจจัยที่ทำให้วิธีการทำงานหรือกลยุทธ์แบบเดิมๆ ล้าสมัยและต้องเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าเป็นศัพท์ในปัจจุบันก็พอเทียบเคียงได้กับ Disruption เปรียบเหมือนกับปัจจุบันที่ Covid-19 ได้กลายเป็น SIP ที่ทำให้สิ่งที่เคยเป็นมาของทั้งโลกนี้ต้องเปลี่ยนไปซึ่ง Grove ระบุไว้เลยว่า SIP นั้นไม่ได้ส่งผลต่อเฉพาะผู้นำเท่านั้นแต่คนทุกคนในองค์กร (หรือประเทศ) ก็จะได้รับผลกระทบและจะต้องปรับเปลี่ยนในสิ่งที่เคยปฏิบัติมาแต่ในอดีต

เมื่อองค์กร (หรือประเทศ) ต้องเผชิญกับ SIP นั้น ทุกคนจะเกิดความสับสนไม่มั่นใจในทิศทางต่อไปในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ ผู้นำจะต้องเข้มแข็ง สามารถชี้นำคนในองค์กรให้เห็นทิศทางในอนาคตที่ชัดเจนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ที่สำคัญ Grove ยังระบุไว้ด้วยว่าการสื่อสารจะสำคัญมากในช่วงนี้ โดยข้อความที่สื่อนั้นจะต้องง่ายตรงไปตรงมา และมีประสิทธิผลสูงสุดเพื่อทำให้คนในองค์กรเกิดความมั่นใจในภาวะที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง

สำคัญสุด คือเนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น องค์กรเองก็จะต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา องค์กรตื่นตัวและเตรียมตัวที่จะรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่ยากที่จะคาดเดาไว้หลายๆสถานการณ์ (โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด) เพื่อให้สุดท้ายเมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไปจะยังคงอยู่รอดได้อย่างมีความสุขสมดังที่เขาตั้งชื่อหนังสือว่า Only the paranoid survive