แผนสำรวจปิโตรฯ รอบ 23 เลื่อน ไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน

แผนสำรวจปิโตรฯ รอบ 23 เลื่อน ไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน

พิษโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก กลายเป็นปัจจัยใหม่ ที่ฉุดรั้งแผนการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 23 ของไทย ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน และแรงงานที่ต้องหยุดงานแล้วขาดรายได้

ล่าสุด ผลกระทบดังกล่าวได้สะท้อนมาถึงภาคพลังงาน ทำให้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องประกาศเลื่อนแผนการเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 23) ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 จะคลี่คลาย ซึ่งเดิมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้วางแผนจะเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ แต่พิจารณาแล้ว เห็นว่า การเปิดประมูลในช่วงนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะเข้าร่วมการประมูล เพราะหลายประเทศก็มีนโยบายปิดประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน

ส่วนในแง่จะกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานหรือไม่นั้น ก็ต้องยอมรับว่า การประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว ฉะนั้นเลื่อนการประมูลรอบนี้ออกไปก็คงไม่มีกระทบมากนัก 

เนื่องจากปัจจุบัน ทั่วโลกมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ปริมาณมาก และประเทศไทยเอง ก็มีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การซื้อขายLNG ในภูมิภาค(LNG HUB) และเตรียมพร้อมระบบต่างๆเพื่อทดสอบการขนส่งLNG ในลักษณะเรือขนาดเล็กแปรสภาพก๊าซผ่านรถขนส่ง (small scale LNG) เพื่อทำธุรกิจเทรดดิ้ง LNG ไปสู่ภูมิภาค ที่จะดำเนินการโดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งจัดเตรียมแผนการลงทุนไว้แล้ว ดังนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของพลังงานอย่างแน่นอน

อีกทั้ง หากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลง และบรรยากาศต่างๆดีขึ้น ก็จะสามารถกลับมาดำเนินการเดินหน้าเปิดประมูลได้ตามแผน เพราะกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว

158513450477

สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลงอย่างมากจากผลกระทบโรคโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหายไป และข้อตกลงเรื่องการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่ยังไม่เป็นผล ดังนั้น หากเปิดประมูลในช่วงนี้ ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐที่จะลดลงสะท้อนกับราคาน้ำมันดิบด้วย

ขณะที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 2 มี.ค. 2563) ได้เผยแพร่ ประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยสำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งลงนามโดยสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อวันที่ 27ก.พ.2563 มีสาระสำคัญในประกาศฉบับดังกล่าวระบุไว้ดังนี้

1.ให้ยกเลิกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง เขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบก และในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 และ 2.กำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย สำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่ทั้งหมด 34,873 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แปลง G1/63 ซึ่งอยู่ด้านบนสุด มีขนาดพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร แปลงG2/63 ซึ่งอยู่ตรงกลาง มีขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และแปลงG3/63 ที่อยู่ล่างสุด มีขนาดพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร

โดยการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 3 แปลง ดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณและบงกช ภายหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566

158513452731

ทั้งนี้ การประกาศเชิญชวนเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 23 ถือเป็นแผนการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกรมเชื้อเพลิง ที่จะเร่งรัดดำเนินการในปี2563 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตปิโตรเลียมในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

โดยตามแผนเดิมจะออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไข(TOR)ในเดือน สิ้นเดือน มี.ค.นี้ และยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูล(Data Room)ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จากนั้นกรมฯจะใช้เวลาพิจารณาข้อมูลประมาณ 1-2 เดือนเพื่อตัดสินผู้ชนะ และคาดว่า ลงนามสัญญาได้ ภายในเดือน ม.ค. ปี2564