วิกฤติที่เป็นโอกาส ‘การบินไทย’ หลังประกาศหยุดบิน

วิกฤติที่เป็นโอกาส ‘การบินไทย’   หลังประกาศหยุดบิน

ใน 2 สัปดาห์ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมการบินมีอาการสาหัสเอาการ เพราะทยอยประกาศหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนและไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น หลังมีประกาศล็อกดาวน์และภาวะฉุกเฉินของหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยเพื่อหยุดยั้งไวรัส

สิ่งที่ตามมาคือรายได้หลักของธุรกิจไม่มีเข้ามา การลดต้นทุนและตัดรายจ่ายหลายองค์กรได้ทยอยออกมาให้เห็น จนรายใหญ่ในกลุ่มสายการบินไทยล่าสุด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศหยุดบินชั่วคราวมีผลเมื่อวันที่ 25 มี.ค.

เส้นทางการบินยกเลิกมียุโรป (ยกเว้นเส้นทางมิวนิคและซูริค) ภูมิภาคเอเชียทั้งหมด และเส้นทางบืนในออสเตรเลีย ส่วนเส้นทางการบินในประเทศโอนให้ไทยสมายล์แทน ส่วนไทยสมายล์ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทย่อยของการบินไทย ได้ประกาศหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว

การตัดสินใจของการบินไทยแม่ว่าจะล่าช้ากว่าสายการบินอื่นถือว่าเป็นการใช้มาตรการขั้นสูงสุดเพื่อหยุงองค์กรขนาดใหญ่แห่งนี้เอาไว้ ด้วยที่ผ่านมาปัญหาด้านการเงินรุมเร้ามาโดยตลอดและยังไม่สามารถแก้ไขได้จนยังต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของกลุ่มรัฐวิสาหกิจ

แม้จะมีการแม้แต่การผ่าตัดองค์กรขนาดใหญ่ ลดพนักงาน ลดเส้นทางการบินที่ไม่ได้กำไร นำสินทรัพย์ในต่างประเทศออกมาขาย ก็ยังมาติดปัญหาแผนการจัดหาฝูงบินที่วางแผนไว้จำนวน 38 ลำ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท จึงยังไม่สามารถเดินหน้าได้ทั้งที่เป็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับการบินไทยหลังจัดการลดต้นทุนบางส่วนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นั้นเพราะเม็ดเงินที่จะนำมาซื้อเครื่องบินไม่สอดคล้องกับรายได้และต้นทุนของบริษัท

และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการไขก็อกลาออกจากตำแหน่ง ‘ดีดี’ หรือ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ ‘สุเมธ ดำรงชัยธรรม’ จากที่เข้ามารับตำแหน่ง 1 ปี กับอีก 3 เดือน ท่ามกลางกระแสข่าวว่าแผนธุรกิจและฟื้นฟูกิจการยื่นให้พิจารณาไม่ผ่านความเห็นชอบหลายต่อหลายครั้ง

สถานการณ์ปกติที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เมื่อมีไวรัสโควิด-19 เข้ามากระทบทำให้ต้องลดเส้นทางการบินในต่างประเทศลง 50 % พร้อมยอมประกาศลดเงินเดือน และสวัสดิการผู้บริหารการบินไทยลง 15-25 % ซึ่งประกอบไปด้วย เงินเดือน20 %ค่าพาหนะ30 % หากเป็นผู้บริหารระดับวีพีปรับลดเงินเดือน15 %ค่าพาหนะ20 % เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผล 1 มี.ค.

ด้วยผลกระทบยังทวีความรุนแรงทำให้การบินไทยต้องออกมาตรการล็อตต่อมา ด้วยการขอความรวมมือให้พนักงานเข้าโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนด้วยความสมัครใจ อย่างน้อย 8 วันทำงานขึ้นไปในแต่ละเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนวันที่หยุดต่อเนื่องและจำนวนครั้งในการลาหยุดจนถึง 30 มิ.ย. ต่อด้วยพิจารณาปรับลดเงินเดือน-ค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน และอื่นๆของพนักงาน

แต่ดูไม่เพียงพอเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูง มีการสั่งปิดสถานบริการและตามมาด้วยศูนย์การค้า และหยุดอยู่บ้านเพื่อลดการพบปะกัน ทำองค์กรรัฐวิสาหกิจการบินไทย ขาดรายได้หนักสภาพคล่องไม่มีจนมีข่าวเริ่มขอความช่วยเหลือสภาพคล่องจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

ยิ่งภาพพนักงานแห่ไปไถ่ถอนเงินจากสหกรณ์รวดเดียวถึง 5 พันล้านบาทเพราะไม่มั่นใจฐานะการเงินของบริษัทอาจจะเข้าขั้นวิกฤติ คือยอมปล่อยให้ ‘ ล้ม’ และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายแบบเต็มรูปแบบในที่สุด จนทำให้ต้องมีการออกประกาศกำหนดการถอนเงินสหกรณ์ของรายใหญ่ออกมาตั้ง2 ล้านบาทขึ้นไปต้องนำเงินกลับมาฝากภายใน 6 เดือน

ภาพทั้งหมดทำให้ทางกระทรวงคลังจึงต้องเข้าไปช่วยด้วยการส่งทีมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ สำนักงานบริหารหนี้ (สบน.) ร่วมจัดทำแผนเพื่อให้การบินไทยผ่านแผนฟื้นฟูกิจการไปให้ได้ ไม่ว่าเป็นเป็นการเพิ่มทุนหรืออาจจะต้องอาศัยเงินกู้ด้วย

อาจจะเป็นการมองได้ว่าเป็นการเข้าไป ‘อุ้ม’ ธุรกิจสายการบินแห่งชาติไม่ให้เจอกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และอาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่สุดขององค์กรแห่งนี้ที่มีปัญหาคาราคาซังเรื่องต้นทุนที่กดไม่ลงใช้เป็นช่วงโอกาสทอง พลิกวิกฤติเพื่อเป็นโอกาสในอนาคต ด้วยการผ่าตัดองค์กรแบบจริงๆจังๆ เสียทีและทำให้เห็นผลโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลอย่างที่ผ่านมา