คุ้มครองสิทธิประกันผู้ต้องขังไม่ชะงัก ศาลใช้คอนเฟอเรนซ์ติดตามผลช่วงโควิด-19

คุ้มครองสิทธิประกันผู้ต้องขังไม่ชะงัก ศาลใช้คอนเฟอเรนซ์ติดตามผลช่วงโควิด-19

"เมทินี" รองประธานฎีกา ยันคุ้มครองสิทธิยื่นประกันคำร้องใบเดียวยังเดินหน้า "ไสลเกษ" ปธ.ฎีกา-คณะทำงานประชุมจอภาพศาลจังหวัดธัญบุรี ตามคืบหน้าท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา พ.ศ.2562 – 2563 เรื่อง “การยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย" กล่าวถึงการดำเนินการตามนโยบายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำต่อการยื่นประกันด้วยใบร้องคำเดียว

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทุกคนยังคงต้องให้ความร่วมมือในการควบคุมโรคและการร่วมมือจำกัดวงระบาดว่า ในส่วนงานดำเนินการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังในเรือนจำกับการยื่นคำร้องประกันใบเดียวนั้น ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แต่งดการเข้าเรือนจำของผู้พิพากษาที่จะเข้าไปให้ความรู้และพบกับผู้ต้องขังเพื่อสอบถามข้อมูลแล้วนำคำร้องใบเดียวที่ผู้ต้องขัง (ผู้ต้องหาหรือจำเลย) ประสงค์จะยื่นให้ศาลแต่ละแห่งที่มีอำนาจพิจารณาได้สั่งประกัน

โดยส่วนนี้เราได้รับความร่วมมือจากทางกรมราชทัณฑ์และเรือนจำที่ช่วยในการเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ต้องขังรับทราบถึงสิทธิการประกันตัวด้วยคำร้องใบเดียว แล้วหากมีผู้ต้องขังประสงค์จะยื่นประกันด้วยคำร้องใบเดียวก็จะจัดส่งมายังศาลนั้นๆ ที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาสั่งประกันโดยถ้ามีประเด็นข้อสงสัยใดที่จะต้องสอบถามเพิ่มศาลจะระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประชุมทางไกลผ่านจอภาพจากศาลไปยังเรือนจำเพื่อสอบถามผู้ต้องขังเพิ่มเติม สำหรับเทคโนโลยีระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์นั้น

ขณะนี้ทุกศาลกับเรือนจำก็สามารถที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ ขณะที่เมื่อวานที่ผ่านมา (24 มี.ค.) สำนักงานศาลยุติธรรมก็ได้ร่วมลงนาม MOU กับกรมราชทัณฑ์ไปแล้วในการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (การนำระบบดิจิทัล มาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลย และการบริหารโทษของผู้ต้องขัง รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยในเรือนจำ) ดังนั้นในการดำเนินตามนโยบายขับเคลื่อนยกระดับการคุ้มครองสิทธิฯ ผู้ต้องหา/จำเลย ยังไม่หยุดชะงัก คงดำเนินการต่อเนื่องต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการดำเนินตามนโยบายขับเคลื่อนยกระดับการคุ้มครองสิทธิฯ ผู้ต้องหา/จำเลย ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย นางเมทินี รองประธานศาลฎีกา และประธานที่ปรึกษาคณะทำงาน กับคณะทำงานฯ ได้ประชุมผ่านระบบสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ (Web Conference) ร่วมกับศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งเป็นศาลต้นแบบของศาลในสังกัดสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตามโครงการขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาเรื่อง“ การยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย”

โดยนายอนุชิต โต๊ะวิเศษกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ได้รายงานผลการดำเนินงานของศาลสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ผู้พิพากษาศาลจังหวัดธัญบุรีได้ให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้ต้องขังหรือจำเลยในเรือนจำธัญบุรี โดยวิธีการประชุมผ่านจอภาพระหว่างศาลจังหวัดธัญบุรีกับเรือนจำธัญบุรี หลังจากที่เคยเข้าไปให้ความรู้กับผู้ต้องขังและจำเลยมาแล้วเมื่อวันที่ 3 และ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้เข้าใจถึงหลักเกณฑ์ในการขอปล่อยชั่วคราวตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ที่มุ่งเน้นการยกระดับการเข้าถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องขังหรือจำเลย

และจากผลของการให้ความรู้ครั้งนี้ทำให้ผู้ต้องขังหรือจำเลย ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งเป็นคำร้องใบเดียวรวม 54 คำร้อง โดยศาลสั่งประเมินความเสี่ยง 54 คำร้อง และต่อมามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยติดอุปกรณ์ EM และสาบานตน 10 คำร้อง , ติดอุปกรณ์ EM และทำสัญญาประกัน 16 คำร้อง , วางเงินประกันภายในกำหนด 9 คำร้อง , ติดอุปกรณ์ EM และแต่งตั้งผู้กำกับ 1 คำร้อง , ติดอุปกรณ์ EM 1 คำร้อง , ทำสัญญาประกัน 1 คำร้อง , ติดอุปกรณ์ EM ตั้งผู้กำกับดูและทำสัญญาประกัน 4 คำร้อง รวมมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 42 คำร้อง และไม่อนุญาต 12 คำร้องเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงผู้ต้องขังหรือจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนและในคดียาเสพติดมีของกลางเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับการดำเนินยกระดับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลยนั้น ได้จัดให้มีศาลต้นแบบเพื่อนำร่องรวม 10 ศาล ประกอบด้วย 1.ศาลอาญาธนบุรี 2.ศาลจังหวัดธัญบุรี 3.ศาลจังหวัดนครนายก 4.ศาลจังหวัดนครราชสีมา 5.ศาลจังหวัดมหาสารคาม 6.ศาลจังหวัดลำพูน 7.ศาลจังหวัดกำแพงเพชร 8.ศาลจังหวัดกาญจนบุรี 9.ศาลจังหวัดภูเก็ต 10.ศาลจังหวัดนาทวี ซึ่งวางเป้าหมายที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทุกศาลอีกด้วย ภายในเดือน ก.ย.63 นี้ โดยก่อนหน้านี้คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายฯ ได้ลงพื้นที่ศาลต้นแบบมา อาทิ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี , ศาลจังหวัดกำแพงเพชร , ศาลจังหวัดมหาสารคาม