สัญญาณ ‘ราคาทอง' ขาขึ้น รับ ‘เฟด’ อัด ‘คิวอี’ ไม่อั้น

สัญญาณ ‘ราคาทอง' ขาขึ้น  รับ ‘เฟด’ อัด ‘คิวอี’ ไม่อั้น

สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ‘ทองคำ’ ที่ดูเหมือนจะเป็น 'พระเอก' ในช่วงวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19'

แต่สุดท้ายกลับดิ่งลงอย่างรุนแรง หลังจากทะยานไปแตะระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลงมาแตะ 1,451 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือลดลงเกือบ 15% ภายในเวลาแค่ประมาณ 6 วัน

แต่ในช่วงสองวันที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ทะยานกลับขึ้นมาอีกครั้ง โดยพุ่งขึ้นมาถึง 7% หรือราว 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาทดสอบระดับ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์

วายแอลจีบูลเลี่ยนแอนด์ฟิวเจอร์ส ระบุว่า การพุ่งขึ้นของราคาทองคำในรอบนี้ ได้แรงหนุนอย่างมากหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้าแทรกแซงตลาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยการประกาศมาตรการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงิน “ไม่จำกัด”

พร้อมกันนี้เฟดได้เพิ่มวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ และโครงการสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่มีการใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในทันที ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากหลายรัฐประกาศปิดเมือง

ขณะเดียวกัน การที่วุฒิสภาสหรัฐยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจ ส่งผลกดดันให้ดัชนีดาวน์โจนส์ปิดร่วงลง 582.05 จุด หรือ 3.04%เมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นแต่อย่างใด จึงต้องจับตาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สินทรัพย์นี้อย่างใกล้ชิด (ในระยะนี้)

หากกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามต่อเนื่องอาจสะท้อนว่าแรงขายทองคำจากความต้องการสภาพคล่องในหมู่นักลงทุนเริ่มเบาบางลงแล้วด้านกองทุน SPDR ซึ่งถือครองทองเพิ่มขึ้นอีก 15.8 ตันสะท้อนกระแสเงินทุนที่เริ่มไหลกลับเข้าสู่การลงทุน ETF ทองคำอีกครั้ง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน หากราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,552 - 1,547 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนะนำเปิดสถานะ 'ซื้อ' ในโซนดังกล่าว เพื่อหวังขายทำกำไรหากราคาทองคำไม่สามารถกลับขึ้นยืนเหนือ 1,597 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามการลงทุนควรเป็นในลักษณะเก็งกำไรระยะสั้น โดยตัดขาดทุนทันทีหากหลุด 1,516 ดอลลาร์ต่อออนซ์และควรคำนึงถึงความผันผวนของราคาเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ทั้งนี้ ความคาดหวังต่อราคาทองคำที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบการประกาศทำ QE แบบไม่จำกัดในรอบนี้ ผ่านโครงการ Term Asset-Backed Securities Loan Facility (TALF) ซึ่งคล้ายคลึงกับโปรแกรม Troubled Asset Relief Program (TARP) ที่เฟดเคยใช้เพื่อหยุดวิกฤตในปี 2551 โดยการอัดสภาพคล่องเข้าไปในระบบและซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาจากสถาบันการเงินทั้งหมด

หลังจากที่โปรแกรม TARP ประกาศใช้ออกมา ราคาทองคำได้พุ่งขึ้นจาก 681.5 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปทำสถิติสูงสุดตลอดกาลของราคาทองคำที่ 1,912.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 180% ในช่วงปลายปี 2554

ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศไทยช่วงสองวันทำการที่ผ่านมา พุ่งขึ้นมาถึง 1,200 บาทต่อบาททองคำ มาอยู่ที่ 24,400 บาทต่อบาททองคำ อิงกับค่าเงินบาทซึ่งอ่อนค่าจากช่วงต้นปีมาแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 32.7 – 32.9 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในทองคำมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ (16 – 20 มี.ค. 2563) ซึ่งสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 0.16 – 0.54% ในตราสารระยะยาว ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายพันธบัตรของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

สัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 34,382 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี 6,895 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว อายุมากกว่า 1 ปี 26,757 ล้านบาท

โดยภาพรวมดูเหมือนว่ากระแสของเงินลงทุน ณ ขณะนี้ จะเริ่มไหลกลับไปที่ ‘ทองคำ’ อีกครั้ง และมีโอกาสที่จะทะยานขึ้นไปต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงไม่ดีขึ้น