มาตรการลดกระทบโควิด ต้องรอบคอบ-มองทุกมิติ

มาตรการลดกระทบโควิด ต้องรอบคอบ-มองทุกมิติ

มาตรการที่รัฐจะดำเนินการ แม้จะมีเจตนาที่ดีในการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด ทว่ามาตรการเหล่านั้น ควรจะประเมินผลกระทบ หรือสกัดจุดอ่อนอย่างรอบคอบ มองทุกมิติ

แม้ที่ผ่านมาจะเห็นความพยายามของรัฐ ในการออกมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบการติดเชื้อใน “อัตราเร่ง” ที่สูงขึ้น โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มมากถึง 188 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่ เพิ่มขึ้น 89 ราย ขณะที่วานนี้ (23 มี.ค.) พบผู้ติดเชื้อใหม่ 122 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 721 ราย แม้จะมีปริมาณผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง แต่ตัวเลขยังถือว่าอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่า มาตรการที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการไปนั้น ที่สุดแล้วจะสามารถ “สกัดกั้น” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะมาตรการที่กรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัด ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาทิ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า เป็นเวลา 22 วัน (22 มี.ค.-12 เม.ย.) โดยในส่วนของห้างฯจะยังเปิดให้บริการโซนอาหาร (ซูเปอร์มาร์เก็ต) และสาขาธนาคารในห้างที่ยังเปิดให้บริการ เนื่องจากพบว่า หลังประกาศดังกล่าวทำให้แรงงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เดินทางกลับภูมิลำเนา สุ่มเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้ในรายที่ติดเชื้อ จะกลับไปแพร่เชื้อดังกล่าวยังภูมิลำเนา กลายเป็นการเพิ่มยอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด

อีกแนวทางหนึ่ง ที่น่าตั้งคำถามว่าจะเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพียงใด คือการขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ “กักตุน” สินค้า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้รัฐจะขอความร่วมมือ แต่ข้อเท็จจริงฟ้องว่าสินค้าบนชั้นวางในร้านค้าปลีกสมัยใหม่หมดจากชั้นวางอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอาหารสด แม้ตามประกาศของทางการจะบอกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดขายอาหารสด ยังเปิดบริการตามปกติ นั่นอาจเป็นเพราะรัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็จำเป็นต้องซื้ออาหารและของจำเป็นในปริมาณมากกว่าปกติ จนอาจเข้าข่ายการตุนในบางช่วงเวลา เพื่อลดการออกนอกบ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอยู่เช่นกัน จะรอคอยเพียง “ฟู้ดดีลิเวอรี่” อย่างเดียวก็อาจไม่ใช่คำตอบของครอบครัวใหญ่

ดังนั้น มาตรการที่รัฐจะดำเนินการ แม้จะมีเจตนาที่ดีในการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด ทว่ามาตรการเหล่านั้น ควรจะประเมิน “ผลกระทบ” หรือสกัดจุดอ่อนอย่าง “รอบคอบ มองทุกมิติ” บูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน ก่อนจะตัดสินใจ เช่น มาตรการด้านความช่วยเหลือแรงงานตกงานจากการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากประกาศออกมาเป็นแพ็คเกจเดียวกันในคราวเดียวกับประกาศปิดสถานที่เสี่ยง อาจทำให้แรงงานชะลอการตัดสินใจกลับภูมิลำเนา เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน อีกปัญหาของรัฐ คือการสื่อสารในสถานการณ์ไม่ปกติ ย้ำว่ายังขาดการสื่อสารที่มีเอกภาพ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้คนสับสนแล้ว สำคัญกว่านั้น จะทำให้ผู้คนขาดความน่าเชื่อถือผู้บริหารประเทศ คณะรัฐบาล ซึ่งจะเกิดผลกระทบตามมาภายหลังอีกมาก โดยเฉพาะผลกระทบเสถียรภาพ ดังนั้นในการประชุม ครม.วันนี้ (24มี.ค.) จะอนุมัติสิ่งใดออกมา ขอให้มองผลกระทบรอบด้าน แถลงคนเดียว รอบเดียวให้ชัดเจนเข้าใจทั่วกันทั้งประเทศ