วิธี DIY คลายกังวลยุคโควิด 19

วิธี DIY คลายกังวลยุคโควิด 19

เปิดวิธีคลายความกังวลจากหลักการ 2 เรื่อง ท้ังสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และสิ่งควบคุมได้ หากเราเข้าใจแล้ว เมื่อใดที่เริ่มกังวล ก็เพียงแค่หยุดตั้งสติ และถามตัวเองว่า “เรื่องที่กังวลอยู่วงไหน” แม้นี่จะเป็นวิธีง่ายๆ แต่ก็ทรงพลัง สำหรับใช้บริหารความคิดยามจิตตก

ในคืนที่มืดมิด..แสงจากหิ่งห้อยตัวกระจิริด ช่างแวววาว ช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาที่ทวีความโหด ไม่ว่าจะเรื่องปากท้อง โรคภัย สงครามน้ำลาย คนที่ไร้ความละอายฉวยโอกาส ฯลฯ ดิฉันได้เห็นแสงวิบวาวแจ่มจรัสคล้ายหิ่งห้อยในคืนมืดจากหลากหลายจุดทั่วสังคมไทย

ล่าสุด ตอนไปห้าง ดิฉันเห็นคิวยาวเหยียด จึงโฉบไปที่ผู้หญิงท่านหนึ่ง (ที่เลือกแล้วว่าดูคล้ายยังไม่หงุดหงิดกับการต่อแถวและถามผ่านหน้ากากผ้า ว่า “รอซื้ออะไรเหรอคะ

คุณลุงใส่ขาก๊วย ที่ยืนถัดไป ตอบผ่านหน้ากาก ด้วยเสียงร่าเริงเสมือนได้ของขวัญที่ถูกใจยิ่ง 

หน้ากากอนามัยครับ...10 บาทเอง!!”

จากนั้นก็กุลีกุจอชี้อย่างมีน้ำใจไปที่โต๊ะที่มีเจ้าหน้าที่ห้างคอยบันทึกรายละเอียดลูกค้าก่อนที่จะเข้าคิวซื้อ

ไปลงชื่อก่อนตรงนั้นครับ 10 บาทเอง หายากครับ

หลังหน้ากากผ้า คุณลุงน่าจะมีรอยยิ้มที่ดิฉันสัมผัสได้ แม้ไม่เห็น

ความปรารถนาดี แม้แต่เรื่องจิ๋วๆ จากเพื่อนมนุษย์ที่เราไม่เคยได้รู้จัก เป็นแสงที่สามารถจุดประกายขยายต่อได้ ไม่สิ้นสุด

วันนี้ ดิฉันจึงขออนุญาตเลียนแบบ เป็นหิ่งห้อยตัวน้อยบ้าง โดยขอแบ่งวิธี DIY คลายกังวลยุคโควิด-19 ค่ะ

จากที่มีโอกาสจัด workshop การพัฒนาตนเองสำหรับมืออาชีพและผู้บริหารตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อเรียนจบ ดิฉันมักถามผู้เรียนว่า วิธีใดจากการเรียนที่ท่านเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สุด ในการบริหารปัญหาที่ยังคิดไม่ตก (แต่จิตตกอย่างเตี้ย)

ขอยก 1 วิธีของผู้เข้าอบรมคนเก่งท่านหนึ่ง ที่ได้เข้า workshop series เรื่องการพัฒนาผู้นำต่อเนื่องหลายครั้ง ท่านนี้คือ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันหนึ่ง ดิฉันพบท่านอย่างบังเอิญหลังจากไม่ได้พบกันนานนับปี เมื่อทักทายสอบถามสารทุกข์สุขดิบกันเรียบร้อย ท่านพูดว่า

ที่อาจารย์มักถามเราบ่อยๆในห้องสัมมนาว่า ที่อาจารย์สอน สิ่งไหนน่าลองไปใช้ที่สุด

ผมลองใช้วงกลม 2 วงที่อาจารย์สอน ผมว่ามันง่ายแต่เป็นประโยชน์มาก

ท่านไหนที่เป็นครู จะรับรู้ถึงความปิติของดิฉันในนาทีนั้น :)

ระหว่างปลื้มใจว่าเราได้สร้างประโยชน์ ก็รีบแอบทบทวนอย่างไวว่า ‘วงไหนหว่า?’ เพราะในการสัมมนาต่อเนื่องหลายปี มีคุยกันหลายสิบเรื่อง และนึกได้ว่าอาจารย์สุธรรมหมายถึงสิ่งนี้

158486067134

สองวงนี้มีที่มาจาก Dr.Steven Covey และหนังสือขายดีตลอดกาล The Seven Habits of Highly Effective People ค่ะ

สรุปหลักการ คือ คนเรามีแค่ 2 เรื่องรอบกาย

  1. เรื่องวงนอก “สิ่งที่คุมไม่ได้” Circle of Concern ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เรากังวล สิ่งที่เป็นปัญหาพาใจวิตก แต่เรา (ยังไม่มีพลังพอที่จะทำอะไรกับมัน
  2. เรื่องวงใน “สิ่งที่คุมได้” Circle of Influence วงนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เรามีพลังและอำนาจที่สามารถทำ แก้ ปรับ เปลี่ยน จับ หยุด ฯลฯ ได้หมด

ตัวอย่างเช่น รถติด กลัวไปทำงานไม่ทัน เรื่องรถติด อยู่วงนอกชัวร์ๆ จะเพียรบ่นก่นด่า เจ้าปัญหาก็ยังยิ้มเฉย

วงใน สำหรับเรื่องนี้ คือ มีอะไรที่เราทำได้บ้าง เพื่อคลายกังวลเรื่องรถติดทำให้ไปทำงานไม่ทัน เช่น สิ่งที่ทำได้ทันที คือ ตื่นเช้าขึ้นในระยะยาว อาจหาที่พักใกล้กับที่ทำงาน หรือหางานใกล้บ้าน หรือเจรจาเข้างานกะสาย ฯลฯ

มาดูวันนี้ที่เราต้องเผชิญกับศัตรูตัวจิ๋ว (ที่เค้าคงทำทุกอย่างเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์คล้ายสิ่งมีชีวิตทั่วไป)

คำถามและความคิดวงนอก มักป้วนเปี้ยนวนเวียนว่า… ทำไมต้องเกิดตอนนี้, ข้าวของจำเป็นทั้งขาดทั้งแพง ทำไมใครๆไม่ทำอะไรให้เด็ดขาด, นโยบายโน่นนี่ พี่ๆใช้อวัยวะใดคิด, ทำไมประเทศไทยงมงายเช่นนี้, เมื่อไหร่จะห้ามคนออกจากบ้าน เรียนรู้บ้างไหมว่าที่อื่นเขาทำอย่างไร, ฯลฯ

แต่ คนคิดวงใน เค้าคิดทำเยี่ยงนี้

  • ใครจะตะลอนไปไหนหรือไม่ อย่างน้อยฉันไม่ไป เพราะไม่อยากทั้งเอาตัวไปเสี่ยง แถมเลี่ยงเป็นภาระให้ทั้งคนใกล้ไกลตัว หากติดเชื้อขึ้นมา
  • ช่วงนี้มีเวลา หาเรื่องดีๆทำดีกว่า อาทิ เรียนรู้สิ่งสนุกๆ ฟรีๆ ที่มีมากมาย เช่น วิธีปลูกผัก organic หลังบ้าน, วิธีถ่ายรูปอาหารให้สวยเพื่อขาย online, หรือ ฟังมุมเรียบง่ายแต่ลึกล้ำ จาก อาจารย์พศิน อินทรวงศ์ ทาง YouTube, ฯลฯ
  • ปรับทักษะ เตรียมพร้อม เตรียมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งดีและไม่ดี ที่จะเกิดอีก อย่างไม่ประมาท (หรือประมาทน้อยกว่าเดิม)
  • ออกกำลังกาย ไหนๆ ก็มีเวลาว่างอย่างที่ไม่เคยมี ดีจัง
  • ติดต่อส่งกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ในอดีตละเลย ฯลฯ

  • 2 วงนี้สำคัญอย่างไร

หลายครั้งมนุษย์อย่างเรามักมีเรื่องกังวลมากมายในสิ่งที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่ไม่วายคิดกลับไปกลับมา วนเวียน จนเปลี่ยนเป็นวิตกจริต คิดหาทางออกไม่พบ เลยจบที่ยิ่งวิตกหนักต่อ เป็นวงจรอุบาทว์

ส่งผลให้ ไม่มีทั้งพลัง ไม่มีทั้งปัญญา และไม่มีเวลาเหลือไปทำอะไรที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ดังนั้น ยามใดที่เริ่มกังวล..หยุด! ตั้งสติ และถามตัวเองว่า “เรื่องที่กังวลอยู่วงไหน”

หากพบว่าอยู่วงนอกเห็นๆ จงถือเป็นจังหวะเหมาะ ที่จะกระชากใจและสมองกลับเข้ามองวงใน จะได้คิดทำอะไรที่พอทำได้และให้ประโยชน์กว่า ไม่เสียเวลาร่ำไร ที่ทั้งไม่ได้อะไร ทั้งทำให้สมองฝ่อหน้าเหี่ยวก่อนวัยอันควร

จึงเป็น วิธีที่ง่ายแต่ทรงพลัง สำหรับใช้บริหารความคิดยามจิตตกค่ะ

ครั้งหน้าจะมีวิธีอื่นๆ มาฝากจากหิ่งห้อยค่ะ