'หอการค้า'เร่งต่อขยายทางคู่-ไฮสปีด หนุน'อีอีซี'เชื่อมกัมพูชา

'หอการค้า'เร่งต่อขยายทางคู่-ไฮสปีด  หนุน'อีอีซี'เชื่อมกัมพูชา

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคตะวันออกทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง มีการศึกษาเพื่อเชื่อมไปถึง จ.ตราด ซึ่งจะทำให้การค้าและการลงทุนสามารถเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับกัมพูชาได้

ปรัชญา สมะลาภา รองประธานหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ จะลงพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกในจ.ตราด เพื่อศึกษาลู่ทางขยายการค้า และการท่องเที่ยว บริเวณชายแดน และช่วยฝั่งทะเลภาคตะวันออก 

สำหรับการค้าชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชา มีสินค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศกัมพูชาถึงกว่า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี และแม้ว่าจะมีปัญหาสงครามการค้า และปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 7% ดังนั้นการขยายการค้าชายแดนฝั่งนี้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระดับจังหวัดและประเทศ

โดยเฉพาะชายแดนระหว่าง จ.ตราด บริเวณบ้านท่าเส้นของไทย กับบ้านทมอดา ของกัมพูชาที่มีแผนจะยกระดับเป็นด่านการค้าถาวร ซึ่งจะลงไปหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่ และภาคเอกชนในฝั่งกัมพูชา เพื่อจัดทำแผนรายละเอียดของการเปิดด่านถาวรนี้ เพื่อให้ภาครัฐได้เห็นถึงความสำคัญ

รวมทั้งผลักดันให้เป็นเป็นด่านการค้าถาวรโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัดตราดได้มาก วมทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมชายแดนประเทศกัมพูชาเชื่อมต่อมายังอีอีซี ที่ขณะนี้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนสายไฟฟ้าในรถยนต์เข้าไปลงทุนและได้ส่งเข้ามาอีอีซี

158497741919

นอกจากนี้ จะหารือกับภาคเอกชนของไทยและประเทศกัมพูชา ในการเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ทั้งจากเส้นทางรถไฟทางคู่ของไทยที่จะก่อสร้างมาจนถึงชายแผนฝั่งกัมพูชา และเส้นทางถนนเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภาไปตามแนวชายฝั่ง จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ตราด ไป จ.เกาะกง และ จ.สีหนุวิลล์ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของกัมพูชาที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของเวียดนาม ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดียวกัน

ทั้งนี้ จะช่วยกระจายนักท่องเที่ยวจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และจากอีอีซีไปประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย โดยการลงพื้นที่หารือกับภาคเอกชน จ.ตราด เพื่อให้โครงการรถไฟทางคู่เกิดประโยชน์ และตรงกับความต้องการของท้องถิ่นให้มากที่สุด

“หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ลงนามก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) ก็มีแผนที่จะเร่งสร้างทางรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยง จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ในระยะต่อไป" 

ดังนั้นภาคเอกชนต้องเร่งลงพื้นที่เพื่อหารือกับภาคเอกชนในท้องถิ่นถึงแผนการสร้างทางรถไฟที่เหมาะสม และแนวทางในการเชื่อมโยงกับระบบรางของประเทศกัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม เพื่อขยายเส้นทางการค้า และการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้จังหวัดที่ต่อเนื่องจากอีอีซีและประเทศเพื่อนบ้าน ให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซี ซึ่งจะช่วยให้อีอีซี เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในบริเวณนี้

รวมทั้งหลังจากลงพื้นที่จ.ตราดแล้ว จะเดินทางไปหารือกับภาคเอกชนใน จ.จันทบุรี เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและสำรวจผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะกระทบการส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออกอย่างไร 

โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน แต่จากการประเมินเบื้องต้นมองว่าไม่กระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทย เพราะตลาดจีนมีความต้องการทุเรียนและผลไม้อื่นจากไทยสูง แต่ประเทศผู้นำเข้าอาจมีความเข้มงวดเรื่องการนำเข้ามากขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้นผู้ส่งออกผลไม้ไทยจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ขณะนี้ด่านผ่านแดนท่าเส้นเป็นจุดที่มีศักยภาพในการยกขึ้นมาเป็นด่านการค้าถาวรมาก เพราะในฝั่งตรงข้างในพื้นที่ชายแดนกัมพูชาได้ตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษทมอดาซิตี้ มีพื้นที่กว่า 14,000 ไร่ จะมีแรงงานอีกหลายหมื่นคนเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ ทำให้ความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นรัฐบาลกัมพูชาจึงสนับสนุนให้เกิดด่านการค้าในพื้นที่นี้

ส่วนรัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการเปิดด่านการค้าชายแดนในจุดนี้มากนัก ขณะนี้ในฝั่งของประเทศไทยยังขาดเส้นทางถนน 2 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมด่านท่าลวดนี้ ซึ่งหากรัฐบาลเร่งสร้างเส้นทางนี้จะเปิดด่านได้ทันที ในขณะที่ฝั่งกัมพูชาได้สร้างเส้นทางถนนเสร็จแล้ว 

โดยปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราดได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รุนแรง หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนจะช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ได้มาก

“รัฐบาลกัมพูชาได้ให้ความสำคัญและอยากเปิดด่านการค้าชายแดนท่าเส้นมาก และได้ผลักดันมาหลายปีแล้ว แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก และยังมีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ทำให้การค้าชายแดนขาดความคล่องตัว ซึ่งหากรัฐบาลเร่งรัดเปิดด่านการค้าชายแดนด้านนี้ ก็จะช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นในในจ.ตราดให้ดีขึ้น”

ส่วนของแผนการสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟความเร็วสูงจาก จ.ระยอง-ตราด เป็นเรื่องดี เพราะช่วยการท่องเที่ยวระยะยาวให้คล่องตัวขึ้น แต่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนขณะนี้ คือ ปรับปรุงเส้นทางถนนใน จ.ตราด เพราะอยู่สภาพที่ย่ำแย่ รวมทั้งการสร้างสะพานลอยข้ามทางแยกเพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ทันที

นอกจากนี้ ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักไปหมด ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ ความช่วยเหลือด้านการเงินให้มีสภาพคล่องให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนี้ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เอสเอ็มอี และการช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งเข้าไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาค โดยการส่งเสริมด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป ให้ความรู้เพื่อยกมาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็งในระยะยาว