'ประวิตร' กระชับแผนน้ำ 'อีอีซี' เพิ่มมาตรการกักเก็บน้ำฤดูฝน

'ประวิตร' กระชับแผนน้ำ 'อีอีซี' เพิ่มมาตรการกักเก็บน้ำฤดูฝน

สถานการณ์แล้งในภาคตะวันออกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะมีผลต่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ

การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 ได้ไปรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและมาตรการการแก้ไขปัญหา ณ มณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายนวมินทราชินี อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี 

จากนั้นได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) 

พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดในอีอีซีทั้ง 3 จังหวัด เข้าร่วมติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบันด้วย คือ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะอีอีซีพบว่ายังมีหลายพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ แม้ว่าฝนตกลงมาในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาและทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอยู่บ้างแต่มีปริมาณไม่มากนัก

ดังนั้น กอนช.จึงได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำและลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าของมาตรการ ทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเบาบางลงและชะลอการเกิดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงไปได้มาก

“ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาวังโตนด ชาวจันทบุรี สทนช. กรมชลประทานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ตลอดฤดูแล้งปีนี้”

158497680322

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังนี้ 

1.จังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจ ติดตาม สถานการณ์ขาดแคลนน้ำ และให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างทันท่วงที

2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และมณฑลทหารบกที่ 14 ร่วมกันป้องกันและดำเนินมาตรการลดผลกระทบในอีอีซี โดยพิจารณาปรับปรุง พัฒนาเชื่อมโยงน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม สูบน้ำจากลำน้ำธรรมชาติเติมอ่างเก็บน้ำกรณีมีฝนตก 

3.การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดใช้น้ำอย่างน้อย 10% ต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

รวมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาน้ำต่อเนื่อง โดยให้จังหวัดเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งทันที รวมทั้งให้กรมชลประทานร่วมกับ กปภ.ต้องสำรองน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาทุกพื้นที่อย่างจริงจัง มีมาตรการกักเก็บน้ำฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนมาตรการเร่งด่วนในการบริหารจัดการน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอในฤดูแล้ง