‘โสภณพนิช’ หวังปิดเกมชิง ‘บีเอช’ ลุยใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้

‘โสภณพนิช’ หวังปิดเกมชิง ‘บีเอช’ ลุยใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้

ยังคงมีประเด็นให้ติดตามกันต่อเนื่องสำหรับเกม "ชิงหุ้น" ของ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH

จากก่อนหน้านี้ที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BH ค่อยๆ สะสมหุ้นจนขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 24.92% (ณ 23 ส.ค. 2562) ก่อนจะประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender offer) ของ BH ที่ราคาหุ้นละ 125 บาท เมื่อ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา

แม้รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่จะโชว์ให้เห็นว่า BDMS คือ เบอร์หนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว BH อยู่ภายใต้การนำของตระกูล ‘โสภณพนิช’ ในเชิงของการบริหารงานภายใต้หัวเรือใหญ่อย่าง 'ชัย โสภณพนิช' ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ขณะเดียวกันเมื่อรวมหุ้นในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มโสภณพนิช จะพบว่ามีสัดส่วนราว 23%

อย่างไรก็ตาม ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับการประกาศทำ Tender offer ของ BDMS ทำให้ กลุ่มโสภณพนิช ดูเหมือนจะอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป และเป็นที่มาของการที่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ของตระกูลโสภณพนิช ได้ตัดสินใจใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ของ BH และเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BH อย่างเต็มตัว รวมสัดส่วนการถือครอง 8.26%

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า BBL เป็นผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพทั้งหมดของ BH โดย BH ได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพชุดที่ 1 มูลค่า 300 ล้านบาท ราคาแปลงสภาพ 4.55 บาทต่อหุ้น และชุดที่ 2 มูลค่า 250 ล้านบาท ราคาแปลงสภาพ 3.50 บาทต่อหุ้น ครบกำหนดอายุวันที่ 23 ส.ค. 2570 หลังการแปลงสภาพหุ้นกู้ครั้งนี้ จะทำให้มีจำนวนหุ้นรองรับการแปลงสภาพคงเหลือ 71.65 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.3% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้น BH โดย BBL เมื่อพิจารณารวมกับบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง คือ บริหารสินทรัพย์ทวี และบล.บัวหลวง จะทำให้กลุ่ม BBL ถือหุ้นรวม 9.98% จากจำนวนหุ้นของ BH ทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 795 ล้านหุ้น

ปิยะฉัตร รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า เดิมทีกลุ่มโสภณพนิชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วนรวมกัน 22.4% แต่หลังจาก BBL เข้ามาถือหุ้นทำให้สัดส่วนของกลุ่มเพิ่มเป็น 28.8% ขณะที่ BDMS เดิมถือ 24.9% ก็ไดลูทลงมาเหลือ 22.9%

แม้สัดส่วนของ BDMS จะลดลง แต่การทำ Tender offer จะยังคงเดินหน้าต่อไป และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ BDMS เข้าซื้อหุ้นเพิ่มได้จนถึง 25% ซึ่งเป็นจุดทริกเกอร์ตามเกณฑ์

158497116678

หากราคาหุ้น BH ลดลงไปต่ำกว่า 125 บาท ก็มีโอกาสที่ BDMS จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มจากในกระดาน ส่วนกรณี Tender offer ก็ต้องรอการพิจารณาจากกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 10 เม.ย. นี้

“โดยรวมมองว่าโอกาสที่ BDMS จะได้หุ้นตามที่คาดหวังไว้ (จาก Tender offer) ค่อนข้างยาก เพราะหาก BDMS ประกาศราคาเทนเดอร์ที่ 125 บาท ตามทฤษฎีแล้วราคาในกระดานที่อาจจะลดต่ำลงไปกว่า 125 บาท ก่อนหน้าวันทำเทนเดอร์ ท้ายที่สุดก็ควรจะกลับมาอยู่ที่ 125 บาท ซึ่งก็จะเกิดคำถามว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยจะรอใช้สิทธิขายให้ BDMS หรือไม่ เมื่อราคาเทนเดอร์และราคาในกระดานเท่ากัน”

ด้าน ปริญญ์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า โอกาสที่ BDMS จะสามารถทำ Tender offer ได้ครบ 100% อย่างที่ตั้งใจไว้นั้นค่อนข้างจะยาก เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ (ตระกูลโสภณพนิช) ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ขายหุ้นในส่วนที่ถือครองอยู่ออกมา

แต่ถึงแม้ว่า BDMS จะมีสัดส่วนการถือครองหุ้นใน BH เพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสจะไปถึงระดับ 50% หากนักลงทุนรายย่อยตัดสินใจใช้สิทธิขายให้ โดยจะมีโอกาสสูงขึ้นหากราคาหุ้นของ BH ในตลาดลดลงไปต่ำกว่าราคาเสนอซื้อที่ 125 บาท อย่างไรก็ตาม BDMS ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาร่วมบริหารแต่อย่างใด

ถามว่าทำไมจึงเกิดการแย่งชิงหุ้น BH กันขึ้นมา จุดเด่นของ BH อย่างหนึ่งซึ่ง บล.บัวหลวง ระบุไว้คือ BH เป็นบริษัทที่มีสถานะเงินสดสุทธิ (มีตราสารหนี้ 2.5 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งจะจ่ายด้วยเงินสดในมือ) และกระแสเงินสดจาก EBITDA ตกปีละประมาณ 5.5 - 6 พันล้านบาท ในขณะที่งบลงทุนในการขยายกิจการ (CAPEX) มีเพียง 2.4 พันล้านบาท ในปีนี้ และจะลดลงเหลือ 1 พันล้านบาท ในปีถัดๆ ไป

เรามองว่าจุดนี้จะทำให้เงินปันผลของ BH มีโอกาสปรับเพิ่มมากกว่าคาด ขณะที่บริษัทมีมูลค่าที่ซ่อนอยู่จากที่ดินบนถนนเพชรบุรี 5 ไร่ และที่ดินบนถนนสุขุมวิท ซอย 1 อีก 3 ไร่ และกรณีศึกษาจากการแพร่ระบาดของโรค SARS ปี 2546 ชี้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง (ซึ่งบ่งบอกถึงตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ามา) สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไตรมาสถัดไป