'โควิด' ฉุดเอสเอ็มอี 1.3 ล้านราย สสว.ชงรัฐหนุนเงินชะลอเลิกจ้าง

'โควิด' ฉุดเอสเอ็มอี 1.3 ล้านราย สสว.ชงรัฐหนุนเงินชะลอเลิกจ้าง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้สำรวจผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเอสเอ็มอี โดยเอสเอ็มอีในภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคค้าปลีกและภาคการผลิต

นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว.เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากวิกฤตการไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ดังนั้น สสว.จึงเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากมาตรการที่รัฐบาลออกมาแล้ว ซึ่งต้องนำมาใช้อย่างเร่งด่วนภายใน 1 เดือน

มาตรการเสริมสภาพคล่อง ได้แก่ 1.สินเชื่อระยะสั้น เพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีกลุ่มที่เป็นลูกค้าเดิมของสถาบันการเงิน โดยเบื้องต้นดำเนินงานผ่านโครงการ สสว.วงเงิน 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% หากเป็นนิติบุคคลไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท บุคคลธรรมดาที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกินรายละ 5 แสนบาท ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและพิจารณาหลักฐานทางการเงิน 

2.สินเชื่อไมโครเครดิต เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเบื้องต้นดำเนินงานผ่านโครงการเงินทุนฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีของ สสว. วงเงิน 730 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% รายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และพิจารณาหลักฐานทางการเงิน

3.ภาครัฐชำระเงินค่าจ้างให้เอสเอ็มอีที่เป็นคู่สัญญาภายใน 30 วัน กรณีที่เอสเอ็มอีเป็นคู่สัญญากับภาครัฐดำเนินกิจการแล้วมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่กิจกรรมดังกล่าวถูกยกเลิกเพราะสถานการณ์ โควิด-19 ให้เอสเอ็มอีนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาเบิกคืนจากภาครัฐได้ตามที่เกิดขึ้นจริง 4.ขอความร่วมมือภาคเอกชนลดเวลาการจ่ายหนี้การค้าให้เอสเอ็มอีให้เหลือภายใน 30 วัน

158496814588

มาตรการลดค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.ลดค่าสาธารณูปโภค 20% แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เวลา 6 เดือน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา 2.ลดการชำระเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้างเหลือ 2% จากเดิม 5% เป็นเวลา 6 เดือน และ 3.ลดค่าเช่าที่ดิน พื้นที่ ให้เอสเอ็มอีรายย่อยที่เช่าจากภาครัฐ 50% เป็นเวลา 6 เดือน

มาตรการรักษาการจ้างงาน ได้แก่ 1.อุดหนุนค่าจ้างแรงงานในระบบของธุรกิจท่องเที่ยวให้เอสเอ็มอี 50% เวลา 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเดือนต่อสถานประกอบการ เฉพาะที่จดทะเบียนนิติบุคคล 32,769 กิจการ 2.ให้แรงงานที่ถูกลดการจ้างงานหรือพักการจ้างงานชั่วคราวพัฒนาทักษะระหว่างพักงาน โดยที่รัฐอุดหนุนเบี้ยเลี้ยงวันละ 300 บาท แต่ไม่เกินรายละ 45 วัน

มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ได้แก่ 1.ให้นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีเดือน มี.ค.-มิ.ย.2563 นำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย 2.ออกมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐมีการจัดประชุม สัมมนา อบรม ในพื้นที่เอกชนในต่างจังหวัดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งต่อหน่วยงานระหว่าง เม.ย.-ธ.ค.นี้ 3.ดิจิทัล วอเชอร์ (กระเป๋าเอสเอ็มอี) ในรูปแบบของชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าและบริการเอสเอ็มอี