แพนิคหุ้นสู่ตราสารหนี้ ตั้งรับเร็วจำกัดความเสียหาย

 แพนิคหุ้นสู่ตราสารหนี้  ตั้งรับเร็วจำกัดความเสียหาย

ประชาชน จนถึงหลายๆ หน่วยงานต่างเผชิญวิกฤติกันถ้วนหน้า ยิ่งภาคเอกชนในนาทีนี้ยอมเจ็บ กับปฎิบัติการ ล็อกดาวส์กรุงเทพฯ เพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่ระบาด ด้วยการปิดสถานบริการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เพิ่มเติมตามการประกาศของ กทม.

    แน่นอนว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบถึงความล้มเหลวในการสื่อสารของภาครัฐ จนทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ คือ ประชาชนแห่ไปซื้อสินค้ากักตุนในยามวิกฤติเพราะไม่มีสถานที่ที่จะซื้อสินค้า และการเดินทางกลับภูมิลำเนาทันทีเพราะไม่มีงานให้ทำไปถึงเดือนเม.ย.

    แม้ท้ายที่สุดจะมีการระบุว่ายังเปิดบริการเป็นโซน แต่ได้ทำให้ประชาชนเริ่มคลางแคลงใจในการบริหารวิกฤติไวรัสครั้งนี้มากขึ้น ยิ่งความเชื่อมั่นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากถึงมากที่สุดในวิกฤติแต่ละครั้ง เพราะหากมีน้ำหนักมากพอ ชัดเจน รวดเร็วแต่รอบด้าน จะทำให้สถานการณ์ จากหวาดกลัว ตื่นตะหนก เป็น เฝ้าระวังและตื่นตัวแทน

     อาการดังกล่าวหากเกิดในตลาดทุน-ตลาดเงิน มักถูกเรียกว่า “แพนิค” หรือการกระหน่ำเทขายไม่สนใจพื้นฐานหรือข้อมูลใดๆทั้งสิ้น ต้องการเพียงถือเงิดสดเพื่อความปลอดภัยมากกว่าจะถือภายใต้สินทรัพย์ประเภทต่างๆ

     โดยอาการดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยเมื่อเกิดวิกฤติหลายต่อหลายครั้ง แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ทำให้อาการแพนิคเกิดขึ้นหนักหน่วงและรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยเผชิญการปรับตัวลดลงของดัชนีตั้งแต่เดือนม.ค. จากการแพร่ระบาดในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นจนต้องปิดเมืองอู่ฮั่น

     ดัชนีหลุด 1,500 จุด ขณะที่สถานการณ์ในไทยการแพร่ระบาดกลับน้อยมาก จนปลายเดือนก.พ. ดัชนีหุ้นหลุด 1,400 จุด จากข่าวการแพร่ระบาดหนักในกลุ่มประเทศเอเซีย และยังเป็นระยะที่ 3 ในกลุ่มประเทศนอกเหนือต้นตออย่างจีน

     กระทั่งเดือนมี.ค. การแพร่ระบาดวิกฤติหนักในยุโรป บวกกับราคาน้ำมันร่วงหนัก ทำดัชนีหลุด 1,300 จุด จากนั้นสถานการณืการแพร่ระบาดไวรัสในไทยกลายเป็นพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนทำให้ภายในสัปดาห์เดียวตลาดหุ้นไทยต้องใช้มาตการหยุดพักการซื้อขาย หรือ Circuit breaker ถึง 2 วันซ้อน

    ด้วยดัชนีหลุด 1,200 จุด แม้จะหยุดพักการซื้อขายไปแล้ว 30 นาที ยังร่วงต่อ และถัดมาดัชนีหลุด 1,000 จุด จนต้องใช้ Circuit breaker อีกรอบ จนเป็นทีมาการประชุมของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ปรับเกณฑ์การขายซอร์ต (short sell) ปรับอัตรา Circuit breaker และราคาซิ่ลลิ่ง ฟลอร์ หุ้นรายตัว หลังจากนั้นตลาดหุ้นเจอแรงแพนิคขายแต่ด้วยเกณฑ์ใหม่ทำให้ลดความเสียหายต่อตลาดหุ้นลดลง

    จากตลาดทุนมาสู่แพนิคในตลาดตราสารหนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการเทขายหน่วยลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ในกองทุนเปิดของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทยเป็นจำนวนมากถึง 5 หมื่นล้านบาท จากความวิกตกสถานการณ์และต้องการถือเงินสด

    จนกองทุน ต้องขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ด้วยการขายขาดทุน ยอมถอนเงินฝากประจำที่ยังไม่ครบกำหนดเพื่อนำเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยกระทบนมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV)ลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้นักลงทุนรายอื่นแห่ขายตาม ลามกระทบไปยังกองทุนของบลจ.อื่น ๆ ตามไปด้วย หากปล่อยไว้ส่อจะเกิดการล้มระเนระนาดของตลาดตราสารหนี้

    ตลาดตราสารหนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่มากเทียบกับตลาดทุน ตามข้อมูลของ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA ) ระบุมีมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยถึง 83 % ต่อจีดีพี มีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 9 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าการออกหุ้นกู้เกือบ 1 ล้านล้านบาทต่อปี

    ดังนั้นจึงทำให้หลายหน่วยงานรีบออกปฎิบัติการเรียกความเชื่อมั่น และต้องรวดเร็วทั้งแบงก์ชาติ – สมาคม บลจ. –สมาคมธนาคารไทย –ก.ล.ต. ด้วยการตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF ) มูลค่า 70,000-100,000 ล้านบาท และการนำหลักทรัพย์ที่ลงทุนไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน

    เท่าเป็นการการันตรีว่าแบงก์ชาติจะดูแลสภาพคล่อง ทำให้มาตรการดังกล่าวสามารถหยุดความตื่นตะหนกได้ ซึ่งหากมาตรการตั้งรับทำได้ชัดเจน รวดเร็ว รอบด้านพอ เท่ากับเป็นการจำกัดความเสียหายไม่ให้ยับเยินไม่มากกว่าที่เป็นอยู่..