บล.เอเซียพลัส เล็งหั่นกำไรบจ.ปีนี้เหลือ7.93 แสนล้านหลังโควิดระบาดหนัก

บล.เอเซียพลัส เล็งหั่นกำไรบจ.ปีนี้เหลือ7.93 แสนล้านหลังโควิดระบาดหนัก

บล.เอเซีย พลัส เล็งหั่นกำไรบจ.ปีนี้ลงอีกเบื้องต้นคาดเหลือ 7.93 แสนล้านบาท จากเดิม 8.54 แสนล้านบาท เตรียมสรุปตัวเลขสัปดาห์หน้า หลังโควิดแพร่ระบาดหนักนอกจีน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส จำกัด ออกบทวิเคราะห์ ระบุ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.)อีกครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (โควิด-19) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เช่น อิตาลีและสหรัฐที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเทศไทยเองยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ภาครัฐบาลไทยออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เช่นปิดสถานที่พบปะคนจำนวนมากเป็นเวลา 22 วัน ส่งผลให้กิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงักชั่วคราว กดดันประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนให้ลดลงอีก

 สำหรับเบื้องต้นมีการปรับลดกำไรลงอีก 6.07 หมื่นล้านบาท มาจาก 4 กลุ่ม (5.9 หมื่นล้านบาท) และกลุ่มอื่น ๆ (0.1 หมื่นล้านบาท) ประกอบด้วย1. กลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดกำไรลงราว 4.3 หมื่นล้านบาท โดยฝ่ายวิจัยปรับกําไรสุทธิกลุ่มฯ(9 ธนาคาร ไม่รวม TCAP) ลง 20% มาอยู่ที่ 1.47แสนล้านบาท ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มชะลอตัว จึงปรับสมมติฐานให้อนุรักษ์นิยมมากขึ้น หลักๆ ได้แก่ 1.) ปรับอัตราการเติบโตสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (BBL, KBANK, KTB และ SCB) จากเดิมมองโต 3%- 4% yoy เป็นทรงตัวจากปีก่อน ส่วนธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อย่าง KKP และ TISCO กลับอ่อนตัว 5% yoy หลังยอดขายรถยนต์ในประเทศ 2M63 อ่อนตัว 12.7% yoy และยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งปีมีแนวโน้มลดลงราว 11% yoy 2.) NIM อยู่บนสมมติฐานที่กนง. จะลดดอกเบี้ย 0.5% ในปี2563 โดยทุกๆ 25 bps จะกระทบกําไรกลุ่ม ราว 5% 3.) เพิ่มค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้ (ECL) กลุ่มฯ ประมาณ 10 bps 4.) ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานคงเดิม

  2. กลุ่มโรงพยาบาล ปรับลดกำไรลงราว 1.2 พันล้านบาท จากการปรับลดสมมติฐานรายได้จากผู้ป่วยต่างประเทศที่บินมารักษาโดยตรงลง 30% (ช่วง ก.พ. – ก.ค.) และผู้ป่วยภายนอก (OPD)ลง 10% จากอัตราผู้ป่วยภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

 3. กลุ่มค้าปลีกที่ไม่ได้ขายสินค้าจำเป็น (ยกเว้น CPALL, BJC และ MAKRO) ถกูกปรับลดกําไรลงเล็กน้อย 400ล้านบาท เนื่องจากหน้าร้านถูกปิดชั่วคราว จากมาตรการควบคมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น

  4. กลุ่มขนส่งทางอากาศ ได้มีการปรับลดลง 1.5 หมื่นล้านบาท สะท้อนผลกระทบโรคระบาด COVID-19 ที่ยาวนานและแรงกว่าคาด ต่อจํานวนผู้ใช้บริการทั้ง AOT ผู้ให้บริการสนามบินและสายการบิน (AAV, BA และ THAI) กระทบรายได้ค่าบริการลดลงสูงกว่าผลบวกต้นทุนที่สายการบินมีการปรับตัว โดยตัดลดกำลังการให้บริการ และต้นทุนน้ำมันปี 2563 บางส่วน ซึ่งยังไม่ป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบของฝ่ายวิจัย

  สรุปกำไรบริษัทจดทะเบียนถูกปรับลดลง 6.07 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นเหลือ 7.93 แสนล้านบาท (จากเดิม 8.54 แสนล้านบาท) คิดเป็น EPS 73.75 บาท/หุ้น (จากเดิม 79.62 บาท/หุ้น) แต่สุดท้ายตัวเลขคาดการณ์กําไรยังไม่นิ่ง โดยจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งฝ่ายวิจัยจะสรุปตัวเลขสุดท้ายออกมาภายในสัปดาห์นี้ เพื่อทำให้สามารถสะท้อนให้เห็น Downside ของตลาด ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด