'นริศ เชยกลิ่น' เปิดสูตร 'สิงห์เอสเตท' รับมือ 'โควิด'

'นริศ เชยกลิ่น' เปิดสูตร 'สิงห์เอสเตท' รับมือ 'โควิด'

“สิงห์ เอสเตท” พลิกเกมรับมือไวรัสโควิด-19 รอซื้อโรงแรม ที่ดินราคาถูก พร้อมเปิดโหมดรัดเข็มขัดหลังรายได้ในธุรกิจที่อยู่อาศัยชะลอตัว ธุรกิจโรงแรมเริ่มได้รับผลกระทบ เมื่อยุโรปปิดประเทศ

ตลอดระยะเวลา5ที่ผ่านมาของ “สิงห์ เอสเตท” บริษัทลูกในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ หรือค่ายเบียร์สิงห์ ที่ได้มีมืออาชีพอย่าง “นริศ เชยกลิ่น” อดีตผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มซีพีเอ็น (เซ็นทรัลพัฒนา) เข้ามาบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มจากการเข้าซื้อกิจการของรสา พร็อพเพอร์ตี้ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น สิงห์ เอสเตท พร้อมกับปักหมุดว่า จะเป็น “ โกลบอล โฮลดิ้งส์ คอมปะนี” ด้วยการซื้อกิจการ โรงแรม เพื่อเป็นเรือธงในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะโรงแรมในยุโรป พร้อมกับการลงทุนอสังหาฯเพื่อขาย อสังหาฯเพื่อเช่า ล่าสุดมีแผนจะขยายมาไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในระยะ 5 ปีจากนี้จะมีรายได้ 30,000 ล้านบาท หลังจากประกาศแผนไปเมื่อวัน 30ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 กลับแพร่ระบาดและรุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เหนือความคาดหมาย

นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า วิกฤติครั้งนี้เทียบกับวิกฤติปี2540 (ต้มยำกุ้ง) คนละแบบ ตอนปี2540 จะเห็นความเสียหายเยอะมากและเห็นเป็นรูปธรรม แต่ความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติครั้งนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมชัด และประเมินยากว่าจะมันจบเมื่อไร แต่ผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าวิกฤติครั้งที่แล้ว

วิกฤติปี2540 จะกระจุกตัวในแวดวงการเงินส่วนใหญ่ แล้วค่อยมีผลกระทบไปที่คนตกงานบ้างอะไรบ้าง แต่ก็อยู่ในภาคการเงินเป็นหลักแต่วิกฤติคราวนี้ขยายวงกว้าง ไปกระทบที่กำลังซื้อ กระทบระบบสาธารณสุข ซึ่งไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไรเนี่ย คือสิ่งที่แย่

จากประสบการณ์สายการเงิน “นริศ” บอกว่า สิงห์เอสเตท ได้ทำแบบจำลองการรับมือในทุกสถานการณ์ โดยมีการจำลองสถานการณ์กรณีที่เลวร้ายที่สุดว่า หากสถานการณ์ลากยาวไป 9 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น เตรียมรับมือเรียบร้อยแล้วไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสด (Cash Flow) ก็ได้เตรียมไว้แล้ว โดยบางธุรกิจในเครือ ได้พูดคุยกับธนาคารและได้ปรับเปลี่ยนตัวเลขการชำระคืน รอดูอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องปกติในภาวะวิกฤติทางสถาบันการเงินเห็นใจ และให้ความร่วมมือเพื่อให้เราผ่านวิกฤติไปด้วยกันได้

นริศ กล่าวว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case) คาดว่าใช้เวลาถึง 10 เดือนถึงสิ้นปี 2563 ในธุรกิจโรงแรมทั้งพอร์ตเฉลี่ยอัตราการเข้าพักประมาณ 50% จากปกติ 80% เราหวังว่าในไตรมาส 4 สถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้น แต่ในไตรมาส2 จะแย่และ3 จะดีขึ้น ในส่วนของที่อยู่อาศัยก็ปรับตัวเลขลงทั้งยอดขายพรีเซล ยอดโอน ?ปัจจุบันได้รับผลกระทบน่าจะต้องปรับ? 20% ซึ่ง ไม่ใช่ เป้าหมายเดิมแล้ว แต่ถ้าสถานการณ์?แย่ลงลากยาวถึงปลายปี ต้องปรับถึง 40%

ส่วนตลาดออฟฟิศดูเหมือนจะดีกว่าธุรกิจอื่น ยังไม่ต้องให้ส่วนลดมากนัก แต่ต้องดูแลลูกค้าเป็นรายๆไป ถือว่า ยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดอื่นแต่ว่าจากการที่มีมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ที่เกิดจากวิกฤติครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับตลาดออฟฟิศในอนาคตว่า จะทำให้คนเริ่มทำงานที่บ้านมากขึ้นจะมีผลต่อการลดการใช้พื้นที่เช่าในอนาคต รวมถึงโคเวิร์คกิ้งสเปซ อาจจะได้รับผลกระทบในช่วงนี้เพราะคนต้องการโคเวิร์คกิ้งแบบมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งหากไปอยู่ร่วมกันอาจผิดหลักการที่รัฐบาลขอความร่วมมือ

สำหรับแนวทางการบริหารงานในช่วงนี้ นริศ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในโหมดของการประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะในแง่ของรายได้ในธุรกิจที่อยู่อาศัย‘ชะลอ’ตัวขายได้ช้าลง ส่วนธุรกิจโรงแรมเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เมื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่กลายเป็นพื้นที่ระบาดแห่งใหม่จนต้องปิดประเทศ ขณะที่โรงแรมที่ภูเก็ต พีพี เริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศยุโรป เพราะมีกลุ่มลูกค้ายุโรปจำนวนมาก ซึ่งหากเทียบไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นไฮซีซันเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วต่ำกว่า โดยเฉพาะเดือนมี.ค.ต่ำกว่าถึง50% แต่เฉลี่ยไตรมาสแรก ประมาณ70% เพราะเดือนม.ค. ก.พ. ยังดี แต่ในไตรมาสสองไม่อยากจะนึกถึงเลย เพราะพอร์ตโรงแรมน่าจะได้รับผลกระทบเยอะ

“เราเข้าสู่โหมดประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ งบการทำตลาด งบบุคลากรลดลง ทั้งผู้บริหารและพนักงานช่วยกันลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น สวัสดิการลงด้วยความสมัครใจ คณะกรรมการตัดค่าตอบแทนลง ส่วนสวัสดิการผู้บริหาร เช่น ค่าน้ำรถต่อเดือนตัดออกไป3 เดือนก่อนรอดูว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อหรือไม่ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.นี้้”

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้ นริศ ยอมรับว่า เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าเทคโอเวอร์โรงแรม ที่มีปัญหา สายป่านไม่ยาวมีจำนวนพอสมควรซึ่งเริ่มมีสัญญานออกมาบ้างแล้ว โดยมีผู้ที่แสดงความประสงค์ที่จะขายอยู่ในหลายแห่ง ทั้งในยุโรป เอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีหลังจากที่ทำไอพีโอ ทำให้บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) มีโอกาสที่จะไปลงทุนเยอะ เพราะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอื่น เนื่องจากมีโรงแรมในฟิจิ มัลดีฟส์ และมอริเชียส

“ช่วงนี้ถ้ามีของถูกมานำเสนอยังมีอารมณ์ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นตึก เป็นที่ดินขอให้มาเถอะ ซึ่งมีคนมานำเสนอเราทยอยซื้อที่ บางที่กลับมาให้ส่วนลดเยอะ 30-40% ถ้าเป็นทำเลดีมากก็ซื้อ นอกจากนี้ยังมีโรงแรมด้วย เริ่มต้นจากให้ส่วนลด 10-20% แต่อันไหนที่เราคิดว่าจะลงได้อีกก็ยังไม่ซื้อขอให้ถูกจริง ดีจริงเราพร้อมซื้อ เพราะยังพอมีกำลังที่ซื้อได้อยู่ ”