เปิดสัมพันธ์หลากมิติ ‘ไทย-ปากีสถาน’

เปิดสัมพันธ์หลากมิติ ‘ไทย-ปากีสถาน’

ไทยกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เป็นมิตรประเทศกันมานานชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง "อะศิม อิฟติคัร อะห์มัด" เอกอัคราชทูตเล่าถึงความสัมพันธ์ ที่อาจจะมีข่าวดีเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถานกันในปีนี้

ไทยกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เป็นมิตรประเทศกันมานานชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ในวาระวันชาติปากีสถาน 23 มี.ค.นี้  อะศิม อิฟติคัร อะห์มัด เอกอัคราชทูตเล่าถึงความสัมพันธ์ ที่อาจจะมีข่าวดีเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถานกันในปีนี้ 

ทูตอะศิมเล่าว่า  การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีเริ่มต้นขึ้นในปี 2558 ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพการค้าระหว่างสองประเทศ และเอฟทีเอจะมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพนั้นให้แข็งแกร่งขึ้นได้ ถึงขณะนี้การเจรจาผ่านมา 9 รอบแล้วและคืบหน้าไปมาก การเจรจาอยู่ในขั้นตอนท้ายที่เหลือประเด็นสำคัญเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น

“ในทัศนะของผม หลักการเสนอโอกาสเข้าถึงตลาดที่ดีที่สุดที่เสนอให้คู่ค้า เป็นวิธีที่ดีในการเดินไปข้างหน้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งสรุปข้อตกลง ตอนนี้เรามองหาเอฟทีเอที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน นำไปสู่การเพิ่มปริมาณการค้า และช่วยแก้ปัญหาการค้าทวิภาคีไม่สมดุลในปัจจุบัน และไม่ใช่แค่การค้าสินค้าเท่านั้น การค้าในภาคบริการและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นกับทั้งสองฝ่ายด้วย” 

ในส่วนของการลงทุนก็มีโอกาสสดใส  ทูตกล่าวว่า บรรยากาศการทำธุรกิจและลงทุนในปากีสถานเอื้ออำนวยมากขึ้น ผลพวงจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายดึงดูดการลงทุน และวาระการปฏิรูปที่เอาจริงเอาจัง ทั้งยังมีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าการทำธุรกิจในปากีสถานปรับตัวดีขึ้นมาก

จุดเด่นของปากีสถาน มีทั้งทำเลยุทธศาสตร์อยู่ใจกลางโครงการพัฒนาและเชื่อมต่อที่สำคัญ เช่น โครงการสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ของจีน ที่มีระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (ซีเปค) เป็นโครงการเรือธง อีกทั้งประเทศยังเป็นตลาดใหญ่ ชนชั้นกลางกว่า 80 ล้านคน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ภาคค้าปลีกโตเร็วที่สุดทั่วโลก 

“เราอยากให้กลุ่มธุรกิจไทย ทั้งบิ๊กเนมและเอสเอ็มอีเข้าไปสำรวจโอกาสที่นั่น” ทูตเชิญชวนพร้อมยกตัวอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่เข้าไปในปากีสถานหลายปีแล้ว บจก. ซัมมิท โอโตซีท อินดัสตรี อยู่ระหว่างตั้งโรงงานผลิตในการาจี บริษัทอื่นๆ ก็กำลังดำเนินการ โดยเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย ออกประมวลรายงานว่าด้วยการลงทุนในปากีสถาน ระบุว่า การประมง สิ่งทอ แปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยว/บริการ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพสูงมากสำหรับนักลงทุนไทย

“ขณะนี้กำลังมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนหนึ่งของซีเปค เปิดโอกาสการลงทุนในหลากหลายสาขา จึงอยากให้เพื่อนชาวไทยลองพิจารณาดูครับ”

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานทูตปากีสถานทำกิจกรรมมากมายส่งเสริมสายสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ด้วยทูตอะศิมมองว่า การติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชนถือเป็นมิติสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคี ดังนั้นนอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแล้ว เรื่องนี้เป็นอีกมิติหนึ่งที่ปากีสถานให้ความสำคัญ 

“สายสัมพันธ์สองแผ่นดินตั้งแต่โบราณกาลมีรากฐานมาจากศาสนาพุทธและอิสลาม คนของเราไม่ใช่คนแปลกหน้าระหว่างกันเลย” 

ประเทศปากีสถานรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานในปี 2505 เหตุการณ์นี้ถูกจดจำในฐานะหมุดหมายแห่งมิตรภาพระหว่างประชาชน 2 ชาติ 

อีกตัวช่วยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ชาวไทยเชื้อสายปากีสถานอยู่ในประเทศไทยหลายชั่วอายุคนแล้ว ช่วยสร้างสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน  ส่วนการท่องเที่ยวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าตื่นเต้นในการรู้จักกับผู้คนและสถานที่  หรือแม้แต่ศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น ดนตรี อาหาร ทั้งหมดนี้ล้วนนำพาผู้คนให้ใกล้ชิดกัน

158481786534 ภาพ : pixabay

“เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เหล่านี้ โดยเฉพาะเน้นเรื่องการท่องเที่ยว ผมคิดว่าการท่องเที่ยวระหว่างกันยั่งยืนมากขึ้น สำหรับชาวปากีสถานนั้น ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดโปรดที่จะมาพักผ่นในวันหยุด และเราดีใจมากที่ตอนนี้เพื่อนๆ ชาวไทยไปเที่ยวปากีสถานกันมากขึ้น” ทูตอะศิมกล่าวและว่า เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านนี้ สถานทูตเร่งกระบวนการออกวีซ่า รวมทั้งวีซ่าหน้าด่าน และอีวีซ่า

ปากีสถานมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งมรดกทางศาสนาพุทธและพระบรมสารีริกธาตุในพิพิธภัณฑ์ ภูมิทัศน์ทิวเขาอันงดงามทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานพุทธศาสนา รวมทั้งหุบเขาสวัต (อุทยาน) ภูเขาสูงที่สุดของโลกจำนวนหนึ่งอยู่ในปากีสถาน ที่ จ.ไคเบอร์ปักตุนวา กิลกิต-บัลทิสถาน และแคชเมียร์ พบกับสภาพภูมิทัศน์ชวนตะลึง ทั้งหุบเขา ทะเลสาบ มีภูเขาหิมะปกคลุมเป็นฉากหลัง

“นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่าจะไปเที่ยวในฤดูร้อน เพื่อสัมผัสอากาศเย็นแบบปลอดมลพิษ หรือคนที่ชอบสกีก็ไปในฤดูหนาว”

158481795149
ภาพ : pixabay

แน่นอนว่าดินแดนเอเชียใต้มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับไทยในแง่ของพุทธศาสนา ปากีสถานก็มีจุดแข็งในด้านนี้เช่นกัน ทูตกล่าวว่า ศาสนาพุทธเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกอยู่แล้ว แต่การที่ปากีสถานมีมรดกทางพุทธศาสนามากมายถือเป็นจุดเด่นของประเทศ เช่น ในคันธาระที่พุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่กว่า 1,000 ปี  เป็นจุดเริ่มต้นเผยแพร่การสอนศาสนาไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชียรวมถึงจีนและเอเชียตะวันออก

ที่นี่ยังเป็นที่เกิดของพระโพธิสัตว์ปัทมะสัมภวะ ช่วงนี้เองที่พุทธศิลป์ถือกำเนิดขึ้นเป็นต้นแบบของอุดมคติเชิงพุทธ ในบรรดาพระบรมสารีริกธาตุ 8 องค์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงแจกจ่าย ถูกนำมาประดิษฐานในเขตคันธาระของปากีสถาน 3 องค์

ส่วนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์พุทธโบราณตั้งอยู่ในเมืองตักสิลา ห่างจากกรุงอิสลามาบัดแค่ขับรถไม่ถึง 1 ชั่วโมง

มรดกพุทธอื่นๆ เช่น ภาพแกะสลัก สถูป พระพุทธรูป ตั้งแต่วัดตักติไบไปจนถึงพระนอนในภัมมาลา และพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาที่พิพิธภัณฑ์เมืองลาฮอร์ ทุกชิ้นได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ทูตอะศิม สรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ย้อนไปตั้งแต่สมัย SEATO (องค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ความสัมพันธ์หลากแง่มุมครอบคลุมตั้งแต่การเมือง การป้องกันประเทศและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

เรามุ่งมั่นนำความสัมพันธ์เหล่านี้ไปสู่ระดับยุทธศาสตร์มากขึ้น ความสัมพันธ์ทางการเมืองของเราแข็งแกร่ง มีการติดต่อในระดับสูงอยู่บ่อยครั้ง

นโยบายมองตะวันตกของไทยกับนโยบายมองเอเชียตะวันออกของปากีสถานส่งเสริมซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและข่าวกรองกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนสำคัญมาก นอกจากนี้เรายังเสริมความแข็งแกร่งให้กับการเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา รวมถึงความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านรัฐสภา

ปากีสถานและไทยเป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค เนื่องจากทำเลยุทธศาสตร์อันมีอิทธิพล เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อและบูรณาการในภูมิภาค ในฐานะผู้สนับสนุนพหุภาคีนิยม เราร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในเวทีระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงในสหประชาชาติด้วย