‘32บจ.’จ่อปันผลเม.ย.นี้ กลุ่มแบงก์ จ่ายหนัก 5.5 หมื่นล้าน ‘ดิวิเดนท์ยิลด์’ เฉลี่ย 7.2%

‘32บจ.’จ่อปันผลเม.ย.นี้ กลุ่มแบงก์ จ่ายหนัก 5.5 หมื่นล้าน ‘ดิวิเดนท์ยิลด์’ เฉลี่ย 7.2%

หุ้นกลุ่ม “เซ็ท100” จ่อขึ้น “เอ็กซ์ดี” จ่ายปันผลเดือนหน้า 32 บริษัท โดยกลุ่มแบงก์ 7 แห่ง จ่ายรวมกว่า 5.5 หมื่นล้าน คิดเป็น “ดิวิเดนท์ยิลด์” เฉลี่ย 7.2% เผย “เอสซีบี” ปันผลมากสุด มูลค่ารวมกว่า 1.35 หมื่นล้าน ส่วน “ทิสโก้” อัตราผลตอบแทนสูงถึง 12%

จากการสำรวจปฏิทินหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่า ตั้งแต่วันนี้(23มี.ค.)ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2563 มีหุ้นในกลุ่ม SET100 จำนวน 32 บริษัท จะทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผล โดยหุ้นกลุ่มธนาคาร (BANK) เป็นกลุ่มที่จะมีหุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD มากสุดรวม 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และบมจ.ทุนธนชาต (TCAP)

โดยทั้ง 7 ธนาคาร จะจ่ายเงินปันผลในรอบนี้รวม 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง SCB จ่ายเงินปันผลออกมามากที่สุด 1.35 หมื่นล้านบาท ถัดมาคือ KBANK จำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท และ KTB จำนวน 1.05 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD ตั้งแต่วันที่ 9 - 30 เม.ย. นี้

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของธนาคารเหล่านี้ เทียบกับราคา ณ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยให้ผลตอบแทน 7.28% โดยอัตราผลตอบแทนของแต่ละธนาคารสูงกว่า 5% ทั้งสิ้น ซึ่ง  TISCO เป็นธนาคารที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 12.25% รองลงมาคือ KKP และ KTB อยู่ที่ 8.1% และ 7.5% ตามลำดับ

158471168383

ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า จากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลง 1% ซึ่งเป็นการลดต่อเนื่องจากครั้งก่อนที่ลดไป 0.5% ทำให้เราคาดว่าอาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 - 0.50% ของกนง. ในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 25 มี.ค. นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อ NIM และ กำไรของธนาคารขนาดใหญ่ ขณะที่จะเป็นบวกต่อธนาคารขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ เลขาธิการ ก.ล.ต. จะยื่นหนังสือถึงสภาวิชาชีพบัญชี ขอเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่สำหรับบริษัทจดทะเบียน TFRS9 ไปอีก 2 ปี แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์ต้องดูว่า ธปท. จะผ่อนคลายเกณฑ์การตั้งสำรองหรือไม่ ทั้งนี้เรามองว่าหากสามารถเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ได้จริง จะเป็นบวกเล็กน้อยต่อธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะเตรียมพร้อมสำหรับสำรองหนี้ล่วงหน้าแล้ว แต่ในส่วนการตั้งสำรองในแต่ละงวดนั้นคาดว่า TFRS9 จะเข้มงวดกว่ามาตรฐานปัจจุบัน ฉะนั้นหากเลื่อนบังคับใช้มาตรฐาน TFRS9 อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เป็นปัจจัยที่กดดันกำไรน้อยลง

แนะนำเลือกซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นรายตัว สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบด้านลบ คงแนะนำ BBL ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยน้อยที่สุด และมี Valuation ถูกที่สุด ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กเรายังเลือก TISCO เนื่องจากได้ผลบวกจากปัจจัยดังกล่าว และจ่ายปันผลสูงคิดเป็นอัตราสูงถึง 9.7%

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า เราคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” โดยปรับประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2563 – 2564 ลง 7% และ 21% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งจากเศรษฐกิจโลกและไทย ทำให้เรามีการปรับลดสมมติฐานหลักของกลุ่มธนาคาร ดังนี้ 1) ปรับลดการเติบโตของสินเชื่อลงเป็นติดลบ 1.5% จากเดิมคาดเติบโต 2.1% จากปีก่อน 2) ปรับ NIM ลดลง 0.05 – 0.14% บนสมมติฐานธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธนาคารจากผลกระทบโควิด-19 3) ปรับการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 0.06 – 0.20% จากการใช้ TFRS9 และ 4) NPLs ในปี 2563 จะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.5% จากปีก่อนที่ 3.2%

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นในกลุ่มธนาคารปรับตัวลง 9% และ 17% ในช่วง 3 เดือน และ 12 เดือนที่ผ่านมา จากผลกระทบของเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้ปัจจุบันราคาจะลงมาซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่าของ Standard deviation (-2SD) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ของ P/BV ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 แต่คาดว่าราคาหุ้นระยะสั้นในกลุ่มจะยัง underperform ต่อไป จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต ประกอบกับการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของ ธปท. โดยเฉพาะการหารายได้ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้กลุ่มธนาคารมีการหารายได้ที่ยากมากขึ้น

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง หุ้นกลุ่มแบงก์จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก เพื่อยึดหลักอนุรักษ์นิยมจึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของหุ้นในกลุ่มเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงดังกล่าว ภายใต้ประมาณการใหม่คาดหุ้นกลุ่มแบงก์ (ภายใต้การประมาณการของเรา) จะมีกำไรปกติปี 2563 ราว 156,649 ล้านบาท ลดลง 0.3% โดยคาด บมจ.ทหารไทย (TMB) จะมีกำไรโตเด่นสุดในกลุ่ม 107.6% หลังรวมงบการเงินของธนาคารธนชาต (TBANK) เข้ามาในงบการเงินรวมเต็มปีเป็นครั้งแรก

ส่วนกลุ่มแบงก์ใหญ่เรายังแนะนำเป็น บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่มีแรงหนุนจากการปรับลดความเข้มงวดของนโยบายตั้งสำรอง หลังจากมีการตั้งสำรองในระดับสูงมานาน 3 ปี จนมี Coverage Ratio สูงสุดในกลุ่ม อีกทั้งในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ยังมีอัพไซด์จากการรวมงบของธนาคาร Permata เข้ามาในงบการเงินรวม

นอกจากนี้ ในบรรดาหุ้นที่เหลืออีก 25 บริษัท ซึ่งจะทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD จนถึง 30 เม.ย. นี้ จะจ่ายเงินปันผลออกมาอีกรวม 5.3 หมื่นล้านบาท โดย บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เป็นหุ้นที่จะจ่ายเงินปันผลสูงสุด 1.23 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราปันผล 36.4% เนื่องจากกำไรพิเศษของบริษัท หากไม่นับรวมอัตราปันผลของ JAS หุ้นที่เหลืออีก 24 บริษัท จะมีอัตราเงินปันผลเฉลี่ย 2.95% โดยมีหุ้นอีก 3 บริษัท ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 5% ได้แก่ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ปันผล 6.91% บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ปันผล 6.54% และบมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ปันผล 5.83%

ขณะที่หุ้นซึ่งมีอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ในช่วง 3 - 5% มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) ปันผล 4.9% บมจ.ศุภาลัย (SPALI) ปันผล 4.48% บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ปันผล 3.87% บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ปันผล 3.35% บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปันผล 3.25% บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ปันผล 3.20% และบมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ปันผล 3.03%

สำหรับกลยุทธ์การเลือกกลุ่มลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ บล.โนมูระพัฒนสิน แนะนำ เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) กลุ่มธุรกิจที่อิงกับวงจรเศรษฐกิจ (Cyclical) เนื่องจากได้ประโยชน์จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว (ในระยะถัดจากนี้) และ CRB Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คล้ายกับเมืื่อปี 2562 ได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ซึ่งมีปัจจัยหนุนพิเศษจาก 5G

รวมทั้งกลุ่มส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร จากการขยายตัวของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา สวนทางกับ Supply ที่ถูกกดดันจากสภาพอากาศผันผวนและภาวะโรคระบาด นอกจากนี้ ประเมินว่ากลุ่มธนาคารนั้นมีมูลค่าที่น่าสนใจ และคาดหวังเศรษฐไทยผ่านจุดต่ำสุด ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวและโรงพยาบาลมีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ