ส.อ.ท.ชงตั้งกองทุนแสนล้าน อุ้มตกงาน 1 ล้านคน

ส.อ.ท.ชงตั้งกองทุนแสนล้าน อุ้มตกงาน 1 ล้านคน

ส.อ.ท.ชงตั้งกองทุนรับมือโควิด 1 แสนล้านบาท ปล่อยกู้เอสเอ็มอีพยุงกิจการ ช่วยผู้ตกงานระยะสั้น หวั่นเลวร้ายสุดตกงาน 1 ล้านคน “หอการค้า” ขอความร่วมมือสมาชิกไม่เลิกจ้าง “สทท.” หวั่นยอดเลย์ออฟคนท่องเที่ยวพุ่ง 1 ล้านคน

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลผลกระทบการจ้างงานในอนาคต

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากการระบาดรุนแรงขึ้นจะกระทบเอสเอ็มอีทั้งภาคท่องเที่ยวและการค้าปลีก รวมทั้งส่งผลต่อยอดขายหลายอุตสาหกรรม และหากระบาดถึงระดับ 3 จนต้องปิดเมืองและประเทศจะกระทบธุรกิจรุนแรง ซึ่งกรณีเลวร้ายสุดอาจตกงานถึง 1 ล้านคน

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เห็นว่า รัฐควรตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งความช่วยเหลือ 2 กลุ่ม คือ 1.เอสเอ็มอี โดยให้กองทุนนี้ใช้กลไกธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี และปล่อยให้หมดภายใน 6-12 เดือน รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินจ่ายค่าจ้างและป้องกันการเลิกจ้าง รวมทั้งมีทุนปรับปรุงกิจการรองรับการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัว

“มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์นั้นเอสเอ็มอีเข้าถึงยาก เพราะต้องดูเครดิตและกันสำรองหนี้ตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หากตั้งกองทุนให้ธนาคารรัฐกู้จะไม่ติดเงื่อนไขนี้”

2.การช่วยลูกจ้างและพนักงานที่ธุรกิจหยุดดำเนินการช่วงนี้ โดยจ่ายเงินรายเดือนๆละ 1-2 หมื่นบาท ช่วงไม่มีงานทำ และจ่ายผ่านระบบประกันสังคม โดยต้องรับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรง ซึ่งคาดว่าไวรัสจะระบาดไม่เกิน 3-4 เดือน และเมื่อยุติแล้วแรงงานกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังไม่กระทบมาก ส่วนใหญ่จะลดโอทีและลดสวัสดิการแต่การเลิกจ้างยังมีไม่มาก

ขอความร่วมมือประคองจ้างงาน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือสมาชิก 100,000 ราย ประคองการจ้างงานที่มีรวมกัน 10 ล้านคน ในภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาด ซึ่งถ้าสมาชิกมีปัญหาการดำเนินกิจการให้แจ้งหอการค้าไทยเพื่อเสนอรัฐบาลหามาตรการช่วย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เดิมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาด ภัยแล้งและความล่าช้าของงบประมาณต่อเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท แต่จากการที่รัฐบาลออกมาตรการปิดผับและสถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้การใช้จ่ายลดลงไป 2-3 หมื่นล้านบาท และผลจากการยกเลิกการหยุดสงกรานต์จะมีเม็ดเงินหายไป 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมกับผลกระทบอื่นคาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจ 7 แสนล้านบาท

คาดคนท่องเที่ยวว่างงานล้านคน

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า โรคโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ลดลง 30-40% เหลือ 24-28 ล้านคน หรือลดลง 11.7-15.7 ล้านคน จากนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคนของปี 2562

รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงจาก 1.93 ล้านล้านบาทปีที่แล้ว เหลือ1.19-1.39 ล้านล้านบาทในปีนี้ หรือลดลง 5.44-7.4 แสนล้านบาท ด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยที่ปีที่แล้วมี 166.84 ล้านคน-ครั้ง เป็นรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท คาดว่าปีนี้จะลดลง 20-25% จากปีที่แล้ว หรือคิดเป็นเงิน 2-2.5 แสนล้านบาท

“รายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปีนี้ จะลดลง 7.5-9.9 แสนล้านบาทในกรณีที่ระงับการระบาดได้ในเดือน ก.ค.นี้”

ทั้งนี้ ผลกระทบด้านการประกอบธุรกิจ สทท.คาดว่าผู้ประกอบการอาจปิดตัวอย่างน้อย 5,000-10,000 ราย จากปัจจุบัน 50,000 ราย ขณะที่ผลกระทบด้านการจ้างงาน คาดว่าจากตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4 ล้านตำแหน่ง จะมีผู้ถูกเลิกจ้าง (เลย์ออฟ) ไม่ต่ำกว่า 25-30% หรือคิดเป็น 1-1.2 ล้านตำแหน่ง และมีผู้ถูกลดรายได้จากการถูกลดเงินเดือน พักงาน ลางานโดยไม่รับเงินเดือน 3 ล้านตำแหน่ง

เตรียม 6 หมื่นอัตรารองรับคนตกงาน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ครั้งที่1 ที่กระทรวงแรงงานว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาและเพิ่มมาตรการป้องกันโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ยืนยันมีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเยียวยาให้กับแรงงานนอกระบบเหล่านี้

“ยืนยันว่ารัฐบาลมีการเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือ แรงงานทั้งนอกและในระบบ ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ของโรคจะยาวนานอย่างไร รัฐบาลเน้นย้ำสิ่งสำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมือกันหยุดยั้งการกระจายของโรคโดยเร็วที่สุด หากแรงงานติดเชื้อโควิด-19 และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจะเยียวยา โดยมีงบเพียงพออย่างทั่วถึง“พล.อ.ประวิตร กล่าว

นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ว่างงาน จากผลกระทบภาวะโรคระบาดโควิด-19 กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้เตรียมมาตรการองรับ ทั้งการดูแลป้องกัน และเยียวยา ตามกฏหมาย สิ่งที่กำลังดำเนินการขณะนี้คือการประสานกับผู้ประกอบการ นายจ้าง เพื่อเข้าไปดูแลประคับประคองแรงงาน ร่วมกันกับกระทรวง  พร้อมกันนี้ได้เตรียมตำแหน่งงานไว้ให้กับผู้ว่างงานทั้งในระบบ นอกระบบ และทำงานที่บ้าน

ขณะนี้มีสถานประกอบมีความต้องการแรงงานจบปริญญา 8,802 อัตราและตำแหน่งอื่นๆ อีก 54,112 อัตรา กระทรวง จะเร่งประสานเพื่อบรรจุตำแหน่งที่ว่างอย่างรวดเร็ว