ดัชนีความกลัวพุ่ง ‘ทุบสถิติ’ สะท้อนทั่วโลกกำลังตื่นตระหนก

ดัชนีความกลัวพุ่ง ‘ทุบสถิติ’  สะท้อนทั่วโลกกำลังตื่นตระหนก

ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นปี 2562 น่าจะถูกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ว่าเป็นอีกหน้าหนึ่งของวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

แม้ที่มาที่ไปจะไม่ใช่ "วิกฤตทางการเงิน" ดังเช่นที่เคยเกิดหลายๆ ครั้งในอดีต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนมากที่สุดครั้งหนึ่ง

ดัชนีดาวน์โจนส์ของสหรัฐถูกเทขายจนปรับตัวลงหนักสุด (ภายใน 1 วัน) ในประวัติศาสตร์ ติดลบไป 2,997 จุด เมื่อ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา หุ้นทั่วโลกลดลงประมาณ 30% ภายในเวลาเพียง 1 เดือน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ไม่น้อยหน้า ดิ่งลงราว 600 จุด ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ติดลบไป 35% โดยต้นตอของความตื่นตระหนกในครั้งนี้ ก็มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ถามว่าความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นนี้รุนแรงแค่ไหน เครื่องมือหนึ่งซึ่งมักจะถูกใช้เป็นตัวชี้วัดนั่นก็คือ "VIX Index"

VIX Index หรือ CBOE Volatility Index เริ่มมีการใช้มาตั้งแต่ปี 2473 โดยทุกคนมักจะเรียกติดปากกันว่า ‘ดัชนีความกลัว’ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นเพราะการสำรวจความเห็นของนักลงทุน แต่เป็นการวัดจากความถูกความแพงของ ‘ออปชั่น’ ที่ซื้อขายอยู่ในตลาด Chicago Board Options Exchange (CBOE)

เจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บล.เคจีไอ เคยอธิบายถึง VIX Index ผ่าน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ไว้ว่า บางช่วงเวลาถ้าตลาดมีมุมมองเชิงบวก (Bullish) มากๆ ดัชนี VIX อาจจะลดลง เพราะนักลงทุนต่างประเทศมีมุมมองที่ดีต่อตลาด โยกเงินไปลงทุนในหุ้นโดยตรง ทั้งหุ้นในประเทศอเมริกาและตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ใช่กระจุกตัวลงทุนในออปชั่นบนดัชนี S&P500 ทำให้มีความต้องการออปชั่นน้อย ดัชนี VIX จึงปรับตัวลงมา

158462370322

ในทางตรงกันข้าม เมื่อตลาดเกิดความกังวลขึ้นมา หรือกลัวว่าราคาหุ้นจะลดลงอย่างรุนแรง สำหรับนักลงทุนทั่วไปก็คงเลือกที่จะขายหุ้นแล้วถือเงินสด แต่สำหรับนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ทั้ง Mutual Fund และ Hedge Fund แต่ละราย การที่จะขายหุ้นทิ้งทั้งหมดแล้วถือเงินสดในทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขนาดของกองทุนนั้นมีขนาดใหญ่มาก วิธีป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการซื้อออปชั่นประเภท Put (Put Option จะให้กำไรเมื่อดัชนีปรับตัวลง)

โดยที่ตลาด CBOE นั้น Put Option บน S&P500 มีสภาพคล่องสูงมาก ทำให้เกิดความต้องการในการซื้อ Put Option ที่ตลาด CBOE พร้อมกันจากนักลงทุนสถาบัน ส่งผลให้ราคา Put Option ซื้อขายที่ระดับความแพงขึ้น ดัชนี VIX จึงปรับสูงขึ้นตาม ยิ่งกลัวมากเท่าไร ยิ่งมีความต้องการซื้อ Put Option มากพร้อมกันๆ

ในอดีตที่ผ่านมา VIX index เคยปรับขึ้นสูงสุดช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 ครั้งนั้นดัชนีวิ่งไปสูงถึงระดับ 89.53 จุด ในระหว่างวัน แต่หากเทียบจากราคาปิดระหว่างวัน การพุ่งขึ้นของ VIX Index ในช่วงเวลาปัจจุบัน ขึ้นไปปิดที่ระดับ 82.69 จุด สูงกว่าวิกฤตครั้งก่อนซึ่งปิดสูงสุดที่ 80.86 จุด

ความกลัวที่เข้ามาปกคลุมตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนี้ ดูเหมือนจะรุนแรงไม่แพ้ช่วงวิกฤตคราวก่อนเสียแล้ว ซึ่งเมื่อปี 2551 ดัชนีดาวน์โจนส์ร่วงลงประมาณ 50% จากประมาณ 14,000 จุด มาแตะ 7,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ลดลง 55% จากประมาณ 900 จุด มาแตะระดับ 400 จุด

และในปัจจุบันดัชนีดาวน์โจนส์ลดลงมาแล้วจากจุดสูงสุดประมาณ 33% จาก 30,000 จุด มาเหลือ 20,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทย หากมองจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,850 จุด ขณะนี้ดัชนี SET ร่วงลงมาประมาณ 40%

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การปรับตัวขึ้นของ VIX Index ในรอบนี้ สะท้อนความกลัวของนักลงทุนในตลาดอย่างเต็มที่ และเป็นการบ่งชี้ว่าราคาสินทรัพย์ต่างๆ ณ ขณะนี้ได้รับรู้ข่าวร้ายในระดับสูงมากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับตัวขึ้นของ VIX จากระดับ 15 จุด มาที่ระดับ 80 จุด ในรอบนี้ ใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ต่างกับช่วงวิกฤต ปี 2551 ที่ใช้เวลานานถึง 6 เดือนเลย ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าตลาดหุ้นทั่วโลกในรอบนี้จะเป็นลักษณะเจ็บและจบเร็ว ทำให้ระยะเวลาการปรับฐานไม่น่าจะนานเหมือนวิกฤตครั้งก่อน