ประท้วงยืดเยื้อฮ่องกง ต้นเหตุเสียแชมป์ 'เสรีภาพ' เศรษฐกิจ

ประท้วงยืดเยื้อฮ่องกง ต้นเหตุเสียแชมป์ 'เสรีภาพ' เศรษฐกิจ

มูลนิธิเฮอริเทจ ประกาศให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเสรีทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แทนที่ฮ่องกง ซึ่งเคยครองตำแหน่งนี้มายาวนาน แต่ต้องเสียแชมป์ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน

มูลนิธิเฮอริเทจ ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองจากสหรัฐ เผยแพร่รายงานจัดอันดับเสรีภาพทางเศรษฐกิจปี 2020 เมื่อวันอังคาร (17 มี.ค.) บ่งชี้ว่า จนถึงขณะนี้ ฮ่องกง ยังคงในอันดับต้นๆ ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเสรี แต่หลายเดือนที่ผ่าน ที่เกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่คัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ฮ่องกงสูญเสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย

ในการจัดอันดับรอบนี้ เฮอริเทจได้หั่นคะแนนของฮ่องกงลง 1.1 ทำให้ฮ่องกงมีคะแนนรวมอยู่ที่ 89.1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนคะแนนของสิงคโปร์ไม่เปลี่ยนแปลงคืออยู่ที่ 89.4

“เราผิดหวังที่ฮ่องกงเสียแชมป์ ที่เคยครองมานาน 25 ปีติดต่อกัน และได้ที่ 2 จากการจัดอันดับครั้งนี้ แต่เราก็ยังคงยินดีที่ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ยังคงยอมรับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของฮ่องกง และยอมรับว่าแม้จะเกิดปัญหาชุมนุมประท้วง แต่ฮ่องกงยังคงเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการเงินของโลก เนื่องจากยังคงได้คะแนนในด้านการแข่งขันและการเปิดกว้างที่ค่อนข้างสูง” โฆษกทางการฮ่องกง กล่าว

เมื่อปี 2562 มูลนิธิเฮอริเทจเคยเตือนฮ่องกงว่า กำลังอยู่ในจุดเสี่ยงที่จะสูญเสียแชมป์การเป็นประเทศที่มีเสรภาพให้แก่สิงคโปร์ เพราะระบบยุติธรรมในประเทศไม่มีอิสระอย่างที่ควรเป็น  

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำรายงานให้คะแนนฮ่องกงสูงในหลายส่วน แต่ฮ่องกงก็มาเสียคะแนนในส่วนของเสรีภาพด้านการลงทุน และเสรีภาพทางการเงิน ซึ่งมูลนิธิเฮอริเทจ ชี้ว่า เสรีภาพในการลงทุนครอบคลุมการลงโทษกรณีมีปัญหาด้านความปลอดภัย หรือนโยบายรัฐบาลที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความไม่แน่นอน 

การแถลงจัดอับดับเสรีภาพทางเศรษฐกิจในปีนี้ ผู้จัดได้วางแผนเปิดตัวรายงานดัชนีผ่านทางออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นเพราะเจอข้อจำกัดด้านการเดินทาง ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19

ในรายงานจัดอันดับชิ้นนี้ ให้นิวซีแลนด์อยู่อันดับ 3 ของโลก ส่วนออสเตรเลีย แซงหน้าสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ไต้หวันร่วงลง 1 อันดับไปอยู่ที่อันดับ 11 ส่วนคาซัคสถานแซงหน้าไทยและอินโดนีเซีย เวียดนามไต่อันดับแซงกัมพูชา ศรีลังกา และบังกลาเทศ ขณะที่อัฟกานิสถานอยู่ในอันดับดีกว่าเมียนมา และเนปาล

ขณะที่ ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ได้เผยแพร่ผลสำรวจค่าครองชีพทั่วโลกประจำปีนี้ บ่งชี้ว่า เมืองโอซากาของญี่ปุ่นแซงหน้ากรุงปารีสขึ้นมาเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสิงคโปร์ และฮ่องกง

ส่วนภูมิภาคเอเชียมีเมืองที่มีค่าครองชีพแพงสุดถึง 4 แห่งจากอันดับสูงสุด 10 แห่งทั่วโลก โดยกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 8

“ไซมอน แบพติสต์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอีไอยู ระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในสิงคโปร์ในปีที่แล้ว และผลกระทบจากการประท้วงเป็นเวลาหลายเดือนในฮ่องกง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดของศูนย์กลางการเงิน 2 แห่งนี้แต่อย่างใด แต่สถานะดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า

แบพติสต์ กล่าวต่อว่า ขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกงยังคงเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุด แต่ค่าครองชีพเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ก็ลดลงมาระยะหนึ่งแล้ว หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ว่า สิงคโปร์และฮ่องกงจะหลุดจากอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดใน 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดในอนาคต โดยจะทำให้ค่าครองชีพสุทธิสูงขึ้นเล็กน้อย

รัฐบาลฮ่องกง ออกคำสั่งให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนต้องกักตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 19 มี.ค.เป็นต้นไป

“แคร์รี หล่ำ” ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวถึงสาเหตุของการประกาศมาตรการล่าสุดนี้ว่า “ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 57 รายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มีถึง 50 รายที่ได้รับเชื้อจากต่างประเทศ หากทางการไม่ใช้มาตรการเข้มงวดตั้งแต่ตอนนี้ ความพยายามในการสกัดโควิด-19 ที่ทำมาตั้งแต่ต้นจะสูญเปล่า