‘ธุรกิจบริหารหนี้’ เร่งขยายพอร์ต รับแบงก์แห่เทขายหนี้เสีย

‘ธุรกิจบริหารหนี้’ เร่งขยายพอร์ต รับแบงก์แห่เทขายหนี้เสีย

“ธุรกิจรับซื้อหนี้” คาดปีนี้แบงก์-นอนแบงก์เทขายหนี้เสียออกไม่ต่ำกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท หลังเอ็นพีแอลทั้งระบบพุ่งเฉียด 5 แสนล้านบาท ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอยาว

"ชโย กรุ๊ป" ตั้งเป้าซื้อหนี้มาบริหารปีนี้1หมื่นล้านบาท  ส่วน "เจเอ็มที" ตั้งงบลงทุนซื้อหนี้ปีนี้ 4.5พันล้านบาท คาดคิดเป็นมูลหนี้นำมาบริหารกว่า2.6หมื่นล้านบาท

 นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO  เปิดเผยว่า ปีนี้มีโอกาสที่สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) จะนำหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ออกมาขายเพิ่มขึ้น หรือไม่ต่ำกว่าปีก่อน ที่มีหนี้เสียออกมาขายในตลาดระดับ 1.6-1.7 แสนล้านบาท เนื่องจากหนี้เสียทั้งระบบในปัจจุบันเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับเฉียด5 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตรา 3% ของสินเชื่อทั้งหมด  ยังไม่รวมหนี้เสียใหม่ๆที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยาว และผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด -19

ตั้งเป้าจะซื้อหนี้เสียมาบริหารในปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงิน 1 พันล้านบาท เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 7.5 พันล้านบาท งบซื้อหนี้ราว 200-300 ล้านบาท และอีก 700 ล้านบาท เป็นหนี้มีหลักประกันตั้งเป้าให้การรับซื้อหนี้ราคาต้นทุนต่ำกว่า 5% เช่น เช่นมูลหนี้ 100 บาท บริษัทตั้งเป้าเข้าไปซื้อให้ได้ในราคาไม่เกิน 5 บาท เป็นต้น  ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตคงค้างอยู่ที่ 5.05 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก 3.5 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน

“แนวโน้มการขายหนี้ปีนี้ เชื่อว่าไม่ต่ำกว่าปีก่อนแน่นอน เพราะเทรนด็หนี้เสียยังมีอยู่สูง  ทั้งจากเกณฑ์แอลทีวี ทำให้แบงก์จำกัดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้วันนี้เห็นหนี้เสียของผู้ประกอบการขนาดเล็กมากขึ้น รวมถึงเรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ ที่สร้างภาระให้แบงก์ในระดับสูง  ทำให้สถาบันการเงินขายหนี้ออกมาเร็วขึ้น เช่น หนี้ค้างชำระ 6 เดือนก็ขายออกมาแล้ว จากอดีตต้องค้าง 1-2 ปี เป็นต้น”

ด้านนายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าประมูลหนี้มาบริหารไม่ต่ำกว่าปีก่อน ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท หรือใช้งบในการเข้าไปซื้อหนี้เสียราว 4,500 ล้านบาทในปีนี้ โดยคาดว่าแบงก์และนอนแบงก์จะ นำหนี้เสียออกมาประมูลขายในตลาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท สาเหตุหลักที่ทำให้มีการขายหนี้เสียออกมาเยอะในปีนี้ มาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะหนุนให้แบงก์ขายหนี้เสียออกมา เพื่อลดภาระในการเข้าไปบริหารหนี้ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

“เรามองสถานการณ์ขายหนี้เสียปีนี้คึกคัก ไม่ต่ำกว่าปีก่อน เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แบงก์ นอนแบงก์ คงไม่อยากมีภาระในการเก็บหนี้ไว้บริหาร   บริษัทมีพอร์ตคงค้างอยู่ที่ 1.74 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกันเกิน 90% โดยตั้งแต่ต้นปีเข้าไปประมูลซื้อหนี้เสียมาบริหารแล้วเกือบ 3 พันล้านบาท โดยภาพรวมตั้งเป้ากำไรสุทธิปีนี้เติบโตได้ 30% จากปี 2562"

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) กล่าวว่า ต้้งแต่ต้นปี 2563 แบงก์ นอนแบงก์ แข่งขันนำหนี้เสียออกมาประมูลขายอย่างต่อเนื่อง จากทิศทางหนี้เสียของทั้งระบบที่ยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้เสียของภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอี โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าใช้งบในการเข้าไปซื้อหนี้เสียมาบริหารราว 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีพอร์ตหนี้เสียที่อยู่ระหว่างการบริหารกว่า 3แสนล้านบาท หนี้ที่ขาย เป็นหนี้ใหม่มากขึ้น เช่นหนี้ไม่เกิน1ปี