'สมคิด' วอนเอกชนงดเลิกจ้าง จ่อเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ

'สมคิด' วอนเอกชนงดเลิกจ้าง จ่อเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ

“สมคิด” เร่งคลอดมาตรการช่วยแรงงาน-สถานประกอบการเข้า ครม.สัปดาห์หน้า ขอความร่วมมืองดเลิกจ้าง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อสร้างความมั่นใจถึงสถานการณ์การผลิตสินค้าในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งร่วมมือกับผู้ประกอบการในการรับมือกับผลกระทบการระบาด

การประชุมครั้งนี้มีภาคเอกชนเข้าร่วม เช่น คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เครือสหพัฒน์ ไทยเบฟเวอเรจ ยูนิลิเวอร์ เครือซีพี เครือเซ็นทรัล และผู้ผลิตอาหาหารรายใหญ่

นายสมคิด กล่าวว่า การระบาดโรคโควิด-19 กระทบทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลเตรียมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าจะเสนอมาตรการช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงสถานประกอบการที่ต้องหยุดตามมติ ครม.วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งวันนี้ (19  มี.ค.) จะประชุมกับกระทรวงการคลังเพื่อสรุปมาตรการดังกล่าว 

รวมทั้งหารือข้อเสนอเอกชนไ เช่น การนำเข้าหน้ากากอนามัยที่เอกชนชี้แจงว่าติดปัญหาภาษีนำเข้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าช่วงที่อาจปิดบางพื้นที่เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน โดยมอบให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้

นายสมคิด กล่าวว่า การระบาดจะคลี่คลายใน 2-3 เดือน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการอย่าเลิกจ้างพนักงาน หรือชะลอการปลดคนงาน แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นไม่ควรเลิกจ้าง โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการแล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการและจะมีมาตรการเพิ่มอีก

"หากเลิกจ้างเขามีภาระดูแลครอบครัวแล้วจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ต้องช่วยกันประคองก่อน อีก 2-3 เดือนจะดีขึ้น ต้องมีวิธีการบริหารจัดการ อาจลดเงินเดือนบ้างแต่ต้องไม่เลิกจ้าง แล้วต้องดูแลสุขภาพอนามัยด้วย อย่าให้มีพนักงานเจ็บป่วยในไลน์การผลิต เพราะต้องปิดโรงงานจะลำบากกันหมด”

เร่งแจกหน้ากาก-เจลล้างมือ

ขณะนี้ประชาชนกังวลหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังประสานงานโรงงาน 11 แห่ง เพื่อผลิตหน้ากาก 10 ล้านชิ้น  แจกประชาชนภายใน 2 เดือน โดยเฟสแรกต้องแจกภายในสัปดาห์หน้า รวมทั้งให้อุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น โรงงานวาร์โก้ ของเครือสหพัฒน์ก็ผลิตหน้ากากมาจำหน่ายได้คาดว่าจะได้รับความนิยม

ส่วนเจลล้างมือแอลกอฮอล์ล้างมือที่ประชาชนต้องการก็ให้เร่งผลิตและแจกให้มากที่สุด สำหรับสถานที่แจกจ่ายนั้น ได้มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หารือโดยจะต้องเป็นสถานที่ที่สะดวกที่สุด เช่น สถานีบริการน้ำมัน ปตท. แจกผ่านร้านสะดวกซื้อ และผ่านสาขาของสถาบันการเงินที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการ