ชี้นายกฯ มา 'ถูกทาง' ถกคณาจารย์แพทย์ ก่อนออกมาตรการสู้โควิด-19

ชี้นายกฯ มา 'ถูกทาง' ถกคณาจารย์แพทย์ ก่อนออกมาตรการสู้โควิด-19

เปิดเหตุผล! นายกฯ มาถูกทาง ถกคณาจารย์แพทย์ ก่อนออกมาตรการสู้โควิด-19

"วรวรรณ ธาราภูมิ" นักบริหารชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า นายกมาถูกทางแล้ว ถูกทางอย่างไร

ก็ตรงที่ให้นักการเมืองถอยไปไกลๆ แล้วใช้แพทย์ใหญ่มานำทางความคิดก่อน จากนั้นนายกจึงสั่งการสาธารณสุขและทุกฝ่ายให้ทำตาม

มาถูกทางอย่างนี้แล้ว ความเชื่อมั่นว่าจะตรึงโคขวิดได้ ก็จะตามมา ตรงนี้สำคัญมาก มากกว่าอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้จึงจะได้รับคำชี้แนะที่ถูกหลักวิชาแพทย์ แล้วนำไปวางแผนกับองคาพยพอื่นๆ ในกลไกรัฐ เพื่อสั่งการให้ปฏิบัติต่อไปได้

เวลานี้ไม่ใช่เวลาการเมือง และการที่เราได้เห็นผู้อยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐบาล มาแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาโคขวิดโดยไม่ได้อิงการเมือง เรารู้สึกมีความหวัง รู้สึกเชื่อมั่นในคนไทยทุกหมู่เหล่า

แล้วทำไมดูภาพแล้วถึงมีความหวัง

เมื่อใกล้บ่ายของวันที่ 16 มีนาคม 2563 มีการประชุมนัดแรกของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีนายกเป็นประธาน นายกกำลังนั่งคุยกับคณะบุคคลในภาพ

คณะบุคคลนี้คือกลุ่มแพทย์มือครูที่สร้างแพทย์ไทยให้ประเทศนับหมื่นชีวิต

อาจารย์แพทย์ในรูปนี้คือ

1. ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดี ม.มหิดล และอดีต รมว.ก.สาธารณสุข

2. ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ อดีต รมช.ก.ศึกษาฯ

3. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์

4. ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ และ นายกแพทยสมาคม

5. ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา

นายกได้เชิญอาจารย์แพทย์เหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพื่อขอคำปรึกษาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคขวิด

พวกเขาไม่ใช่แค่บรมครูของหมอทั้งประเทศ หากแต่ยังมีชื่อเสียงระดับโลกด้านวงการแพทย์อีกด้วย

นี่จึงเป็นที่มาของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ที่ออกมาหลังจากนั้น โดยเฉพาะการประกาศไม่ให้สงกรานต์ 13-15 เมษายน เป็นวันหยุด ซึ่งมันมีความหมายอย่างมากต่อการหยุดแพร่ระบาด เพราะมาตรการนี้จะช่วยให้เกิดการหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายคน อันเป็นอีกปัจจัยของการกระจายไวรัส

ก่อนหน้าภาพนี้จะออกมา ศ.นพ.ยง ที่เป็นหนึ่งในวงประชุมนี้ เคยออกมาให้ความเห็นถึงโควิด-19 ว่า

"เราจะหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายของประชากรได้อย่างไร ปีนี้ขอโยกย้ายปีใหม่ของไทย ในช่วงสงกรานต์ ให้ไม่เป็นวันหยุด แล้วเมื่อโรคสงบแล้ว ค่อยหยุดชดเชยให้ทดแทนช่วงที่มีการระบาดของโรค

ถ้าเป็นเช่นนี้ทุกคนจะต้องยอมรับ สังคมเราก็น่าจะยอมรับได้ อีกประการหนึ่ง social distance การรวมกันของคนหมู่มาก ทุกคนจะต้องเข้าใจ ว่าจะเป็นแหล่งของการกระจายโรคอย่างรวดเร็ว (super spread) งานสังคมจำเป็นที่จะต้องงด การจัดประชุมวิชาการก็ต้องหาทางออกด้วย tele-conference สนามมวย การแข่งขันกีฬาต่างๆ โรงเรียนกวดวิชาก็จะต้องปิดการสอน เพื่อลดการระบาดของโรคให้ได้"

เห็นภาพนายกกับอาจารย์แพทย์ระดับนี้แล้วพวกเราสบายใจได้ เพราะแม้โคขวิดยังจะขวิดเราต่อ แต่เมื่อนายกมาถูกทาง รับฟังทุกอย่างจากอาจารย์แพทย์มือหนึ่งของประเทศด้วยการให้เกียรติในความสามารถและประสบการณ์ของพวกท่าน แล้วนำไปสั่งการอย่างบูรณาการต่อ เราก็รู้ได้ว่าเรามีหวังแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันก็คือ “ทำตาม” เหมือนเล่นชักกะเย่อ ที่เมื่อผู้นำโบกธงลงแต่ละครั้ง เราทุกคนก็ดึงเชือกพร้อมกัน ฮึบ ฮึบ ฮึบ ไม่ใช่ดึงกันคนละทีสองที

เพราะเราเชื่อได้แล้วว่าทุกมาตรการจากรัฐบาลที่เสนอออกมาเพื่อควบคุมไวรัส มันต้องถูกคัดกรองจากคนมีความรู้มีความสามารถมาแล้ว

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะมีความชอบ ความชัง ต่อฝ่ายใดก็ตาม ณ วันนี้ เรากำลังลงเรือลำเดียวกัน ร่วมชะตากรรมไปด้วยกัน หากท่านทำตามมาตรการรัฐ แต่ข้าพเจ้าไม่ทำเพราะไม่ชอบรัฐบาล เราทั้งหมดก็ผ่านพ้นพายุร้ายนี้ไปไม่ได้
.

ช่วยกันเผยแพร่ข่าวนี้ แชร์ต่อกันมากๆ แล้วปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านอาจารย์แพทย์มาแล้ว เพื่อประคับประคองชีวิตและสวัสดิภาพของเราทุกคน ทุกสี ทุกกลุ่ม ให้อยู่รอดได้เถิดค่ะ

#โคขวิด ขวิดทุกสี
.

วรวรรณ ธาราภูมิ
17 มีนาคม 2563

(เขียนโดยใช้ข้อมูลมาจากบทความ จากภาพนี้เราจะรอด)

ขอบคุณข้อมูล จากเฟซบุ๊ค วรวรรณ ธาราภูมิ