พลิกปูม ‘ไทยสร้างโอกาส’ หนึ่งในกองทุน ‘พยุงหุ้น’

พลิกปูม ‘ไทยสร้างโอกาส’ หนึ่งในกองทุน ‘พยุงหุ้น’

ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ที่อาจดึงเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนัก

โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน(16มี.ค.) ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงไปแล้วราว 533.76 หรือ 33.78% จากระดับ 1,579.84 ซึ่งเป็นดัชนีปิดเมื่อปลายปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 1,1046.08 ณ วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา 

การร่วงลงอย่างหนักของดัชนีหุ้นไทย ทำให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการเร่งด่วนให้กระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ศึกษาการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุน หรือ “กองทุนพยุงหุ้น” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติในภาวะแบบนี้ 

โดยทางหน่วยงานในตลาดทุนได้หารือกับหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับการนำ “กองทุนไทยสร้างโอกาส “ กลับมาช่วยสร้างสเถียรภาพตลาดหุ้นไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยกองทุนดังกล่าว ในอดีตเคยนำมาช่วยประคองภาวะตลาดหุ้น เมื่อ 18 ปีก่อน ขณะนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทย ประมาณ 370 จุด และสืบเนื่องแผนแม่บทการตลาดทุนไทย ที่ได้กำหนดมาตรการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดทุน ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “กองทุนไทยสร้างโอกาส” วันที่ 21 ก.พ .2545

กองทุนมีวัตถุประสงค์ เน้นระดมเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน ทั้งจากภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ มีความเข้าใจใน นโยบายการลงทุนที ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงมาลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนหลักของกองทุน เพื่อนำเงินมาลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว และในหลักทรัพย์ที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งบริษัททั่วไปและรัฐวิสาหกิจที่มีการแปรรูป เพื่อที่จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้

158445236270

สำหรับโครงสร้างกองทุนเปิดไทยสร้างโอกาส ประกอบด้วยผู้ร่วมทุนหลักจำนวน 12 ราย ได้แก่ ตลท. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ บมจ.ผลิตไฟฟ้า บมจ.นำสินประกันภัย บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด เป็นผู้บริษัทจัดการ มีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นที่ปรึกษากองทุน

กองทุนดังกล่าวจะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนในช่วง 3 ปีแรก และจะจ่ายเงินปันผลตามมติของที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน ปัจจุบันกองทุน ยังเปิดขายสำหรับนักลงทุนสถาบัน ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เปิดขายคืนทุกวันจันทร์ ผลตอบแทนกองทุน ณ สิ้น ก.พ. 2563 นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 9.86% ต่อปี

แหล่งข่าวจากธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสรริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ .) ได้ประชุมหารือกับภาคธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ในการเข้าลงทุนภายใต้กองทุนดังกล่าว พร้อมสนับสนุนการเข้าลงทุน หากมีการประกาศตั้งกองทุนไทยสร้างโอกาส เวอร์ชั่นใหม่ชัดเจน ในนามของสมาคมฯ ทั้งสองสมาคม ซึ่งในขณะนี้ธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 22 บริษัท และธุรกิจประวินาศภัย จำนวน 62 บริษัท โดยเบื้องต้นมีวงเงินเข้าลงทุนขั้นต่ำ 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันวงเงินทุนของทั้งระบบประกัน มีกว่า 2 ล้านล้านบาท

“เรากำลังรอดูเงื่อนไขกองทุนที่ชัดเจนก่อน เช่น ผลตอบแทนจะเป็นเท่าไหร่ จะมีการรับซื้อคืนหรือไม่ ในกี่ปี ขยายการลงทุนในตลาดรองหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการเปิดกว้างสำหรับธุรกิจประกัน ก็สามารถเข้าไปลงทุน เบื้องต้นเสนอขอวงเงินลงทุนไปขั้นต่ำ 30,000 ล้านบาท และรอการจัดสรร แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วไม่ว่าเงื่อนไขกองทุนนี้ จะเป็นอย่างไรก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้นและการลงทุนของภาคธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้ในภาวะเช่นนี้ ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย พร้อมสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว”