ถอดสมมุติฐาน ‘โควิด-19’ ชี้ชะตาศก. ‘ถดถอย’ หรือ ‘ชะลอตัว’

 ถอดสมมุติฐาน ‘โควิด-19’  ชี้ชะตาศก. ‘ถดถอย’ หรือ ‘ชะลอตัว’

ณ ตอนนี้ เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นกับเศรษฐกิจ มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องโควิด-19 ที่ในช่วงแรกดูเหมือนจะแพร่ระบาดแค่ในจีนและภูมิภาคเอเชีย แต่สถานการณ์ปัจจุบันไวรัสดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วโลกและควบคุมผู้ติดเชื้อได้ยาก

บรรดานักวิเคราะห์และหน่วยงานต่างๆ ที่เคยประเมินไว้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะไม่มาก และจบได้รวดเร็วเหมือนช่วง SARS ที่แพร่ระบาดช่วงปี 2003 จึงต้องทำการประเมินสถานการณ์ใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ยืดเยื้อกว่าที่คาด อีกทั้งส่งผลกระทบต่อ Demand และ Supply ของสินค้าและบริการทั่วโลก ทำให้เม็ดเงินที่เคยถูกใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคกับการลงทุน ปัจจุบันต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันไวรัส ดูแลผู้ป่วยและค้นคว้าวิธีรักษาแทน

SCB CIO มองว่าปัจจุบันเราคงหลีกเลี่ยง “เศรษฐกิจชะลอตัว” ไม่ได้อีกต่อไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ในหลายประเทศ  โดยมองว่ามีโอกาสเกิดได้ 2 รูปแบบ โดยเหตุการณ์ในแต่ละกรณีจะเป็น ดังนี้

กรณี Base Case (พื้นฐาน)  ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว (Slow Down) ในไตรมาส 1 ปี2563     จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อยลงมากในจีน ผู้ป่วยในจีนรักษาหายเป็นจำนวนมากเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ส่วนไตรมาส2 จีนกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติในเดือนเม.ย. ,ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนเม.ย.  หลังจากนั้นจึงค่อยปรับตัวลดลง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกออกมาย่ำแย่ หลังจากนั้นไตรมาส3  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลงและมีผู้รักษาหายเป็นจำนวนมาก  Demand ของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง โดยเริ่มต้นที่ประเทศจีน และทั่วโลกเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่เดือนก.ค. ปีนี้ ส่งผลให้ไตรมาส4 เศรษฐกิจทั่วโลกสามารถกลับมาดำเนินได้ปกติ

กรณี Worst Case (แย่ที่สุด) ทำให้เศรษฐกิจถดถอย  (Recession) โดยไตรมาส1 ปี2563  ทั่วโลกยังมีการแพร่กระจายไวรัสเพิ่มขึ้นสูง ตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งเอเชียและยุโรปออกมาแย่ จีนเกิดการแพร่ระบาดเป็นรอบที่ 2 หลังจากนั้นไตรมาส 2  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมได้ ,ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกออกมาย่ำแย่ เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ส่วนไตรมาส 3  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุด  Demand ทั่วโลกหดตัว ผู้บริโภคเกิดภาวะกลัวและขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และไตรมาส4 เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 

โดยหากเราใช้สมมติฐาน ให้อัตราติดเชื้อของจีนในช่วงที่เพิ่มขึ้น มาใช้กับประเทศอื่นทั่วโลกนั้น เราจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงกว่าจำนวนปัจจุบันมาก โดยอาจสูงถึง 270,000 ราย ในช่วงกลางเดือนเม.ย. เนื่องจากเรามองว่า ประเทศอื่นมีมาตราการกักตัวและปิดเมืองได้ไม่ดีเทียบเท่าจีน และอุณหภูมิในช่วงเวลาดังกล่าวเชื้อไวรัสยังแพร่ระบาดได้อีก

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือการที่สหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายไวรัสได้ หรือกรณีที่ประเทศจีนมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ โดยปัจจุบันเราจะเห็นธนาคารกลางทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ใช้นโยบายการเงิน โดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% เหลือ 0-0.25% และอัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ

การดำเนินนโยบายดังกล่าวแม้จะไม่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคหรือฝั่ง Demand ที่เกิดจากความกังวลของโควิด-19 แต่จะช่วยไม่ให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องในกิจการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้านเครดิต Default ส่งผลต่อการปิดกิจการ และเป็นไฟลามทุ่ง Financial Crisis เหมือนช่วงปี 2008 อีกครั้ง

เมื่อเหตุการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วก่อนกลุ่มอื่นนั้นจะเป็น  “กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์” จากการที่สายการผลิตหยุดชะงักจากผลกระทบ Supply chain ที่มีการปิดเมืองและโรงงานบางแห่ง ตามมาด้วย “กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค” จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวกลับมา ทำให้กลับมาใช้จ่าย และบริโภคเช่นเดิม 

ส่วนในกลุ่มของ “สายการบิน การท่องเที่ยวและโรงแรม” นั้น จะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าที่สุด เนื่องจากแม้โรคจะสงบลงแต่ความเชื่อมั่นในการเดินทางไปท่องเที่ยวนั้นต้องใช้เวลาจนกว่าจะกลับมา

สำหรับมุมมองการลงทุนนั้น สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนระยะยาวและรับความผันผวนได้ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกในช่วงหลายปี ควรทยอยเข้าลงทุน แม้ว่า Earning จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี โดยเน้นลงทุนไปยังบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี หรือกลุ่ม REITs ที่มีกระแสเงินสดจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เป็นทางเลือกแรกๆ

 แต่สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ไม่มาก ควรลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง และควรรอจังหวะเข้าลงทุนต่อไปเมื่อความกลัวหายไปหลังโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย  เนื่องจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2นี้ ตลาดมีความผันผวนและอาจปรับตัวลดลงได้เป็นระยะเนื่องจากโควิด-19 ยังหาจุดจบไม่ได้ แต่เรามองว่าในระยะยาวการลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และเป็นบริษัทที่เคยผ่านบททดสอบช่วงวิกฤติมาได้นั้น จะต้องสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในท้ายที่สุด