ครม.ไฟเขียวมาตรการอุ้มแอร์ไลน์ สู้พิษโควิด -19

ครม.ไฟเขียวมาตรการอุ้มแอร์ไลน์ สู้พิษโควิด -19

ครม. ไฟเขียวมาตรการอุ้มแอร์ไลน์ สู้โควิด -19 ขณะที่ ทอท.เตรียมชงมติ ครม.เข้าบอร์ด พร้อมเสนอมาตรการร้านค้ารายย่อย ปรับเวลาเปิดปิดตามปริมาณผู้โดยสาร ประเมินปีนี้ผู้โดยสารติดลบ 11-12%

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 มี.ค.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน 4 ด้าน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ธ.ค.2563 โดยแบ่งออกเป็น

1.ปรับลดค่าบริการขึ้น – ลงอากาศยาน (Landing charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลดลงอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรืออกประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงปรับลดค่าใช้จ่ายที่ท่าอากาศยานอย่างอื่น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสายการบินสัญชาติไทยตามความเหมาะสม อาทิ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น

2.ปรับลดค่าบริการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ให้บริการเดินอากาศ ในอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และลดลงในอัตรา 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง

3.ปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) ที่เรียกเก็บจากสายการบินตามจำนวนผู้โดยสาร จากอัตราคนละ 15 บาท ลดลงเป็นคนละ 10 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกกประเทศกลุ่มเสี่ยง

4.ขอขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น จากเดิมมีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 เป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2563

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบมาตรการทางการเงิน ได้แก่ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit terms) ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ และผู้ประกอบการจำหน่ายและบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ สายการบิน โรงแรม ภาคบริการต่าง ๆ เป็นต้น

รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ได้แก่ ลดค่าเช่าพื้นที่ลง 50% จากราคาค่าเช่าที่เพิ่งปรับขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสารตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยที่อัตราการจัดเก็บค่าเช่าหลังหักส่วนลดต้องไม่ต่ำกว่าอัตรา ที่กรมธนารักษ์กำหนด เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค. – ส.ค. 2563

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากโรคโควิด -19 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง รวมประมาณ 200 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งขอขอรับเงินอุดหนุน 500 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติ 159 ล้านบาท และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้เสนอขอรับ PSO จากการนำรถโดยสาร (รถทัวร์) ไปให้บริการรับส่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจำนวน 54 ล้านบาท ซึ่ง ครม. เห็นชอบ PSO ให้จำนวน 53.1 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าบริการระหว่างวันที่ 7 มี.ค. - 4 มิ.ย. 2563

158444066840

เครดิตภาพ : Nitinai Sirismatthakarn

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ทอท.อยู่ระหว่างรอหนังสือมติ ครม.อย่างเป็นทางการ เพื่อนำมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบิน รายงานต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท.อนุมัติเห็นชอบ ก่อนรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้มาตรการดังกลาวมีผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจไม่ทันต่อการรายงานบอร์ดที่จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.)

ขณะที่การประชุมบอร์ดครั้งนี้ ทอท.จะเสนอมาตรการจากร้านค้ารายย่อย ที่ขอเลื่อนกำหนดเปิดปิดร้านค้าตามปริมาณการเดินทางของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ทอท.ประเมินว่าผลกระทบจากโรคโควิด -19 จะส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารปีนี้ติดลบ 11 -12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารใน 6 ท่าอากาศยานของ ทอท. พบว่าผู้โดยสารยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สถิติในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยลดลง 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่วันที่ 1-16 มี.ค. ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยลดลง 49% บางวันติดลบมากถึง 60% ด้านไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงปัจจุบัน ปริมาณผู้โดยสารติดลบไปแล้ว 8.4% และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2 จะติดลบ 9%

158444068550

เครดิตภาพ : Nitinai Sirismatthakarn