อียู เตรียมปิดพรมแดนนาน 1 เดือน

อียู เตรียมปิดพรมแดนนาน 1 เดือน

สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมปิดพรมแดนนาน 30 วัน รับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ชาติสมาชิกหลายประเทศ เริ่มปิดพรมแดนแล้ว ล่าสุด ฝรั่งเศส สั่งปิดประเทศแล้ว เมื่อวันจันทร์ (16 มี.ค.)

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นางเออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศว่า สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมจะปิดพรมแดนไม่ให้มีการเดินทางโดยไม่จำเป็น เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยุโรปกำลังเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่

นางวอน แดร์ เลเยน มั่นใจว่ามาตรการนี้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรียุโรป ซึ่งจะทำการโหวตวันนี้( 17 มี.ค.) โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเบื้องต้น 30 วัน หรือราว 1เดือน แต่พลเมืองของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป, เจ้าหน้าที่ที่จำเป็นเช่น หมอและพยาบาล รวมทั้งผู้ที่ขนส่งสินค้ามายังสหภาพยุโรปจะได้รับการยกเว้นจากมาตรการนี้

การตัดสินใจของอียู เกิดขึ้นในขณะที่ทางการสเปน ประกาศปิดพรมแดนภาคพื้นดินไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ ยกเว้นคนงานที่จำเป็นต้องเข้าพรมแดน และการขนส่งสินค้า เพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองทั่วประเทศที่ไม่ให้คนออกมานอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลังจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1,400 รายในวันเดียวเป็น 9,190 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตถึง 309 คน

ด้านฝรั่งเศส ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ประกาศปิดพรมแดนของประเทศตั้งแต่เที่ยงวันอังคารที่ 17 มี.ค. เป็นต้นไป ตามที่ตกลงกับชาติอียูอื่นๆ โดยนายมาครง ประกาศด้วยว่า สหภาพยุโรปจะปิดพรมแดนภายนอกในวันอังคารนี้(17มี.ค.) ไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามา

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสจะเริ่มบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวดในวันเดียวกัน โดยให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน ห้ามเดินทางอย่างไม่จำเป็นเป็นเวลา 15 วัน และจะมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน

ทั้งยังปิดสวนสาธารณะและสวนหย่อมต่างๆ ห้ามคนรวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นงานสังคมหรือครอบครัว ขณะที่กองทัพจะออกมาช่วยขนส่งคนป่วยไปโรงพยาบาล และจะเพิ่มโรงพยาบาลทหารอีก 1 แห่ง เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล

ด้านเยอรมนี ซึ่งมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่า 7,200 ราย ประกาศปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ในวันจันทร์(16มี.ค.) ยกเว้นการส่งสินค้าและส่งคนมาทำงาน โดยมีเพียงพรมแดนที่เชื่อมต่อกับเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้

นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังมีมาตรการเพื่อจำกัดการสัมผัสติดต่อกันของคนในสังคม รวมทั้งการปิดโรงเรียน ปิดร้านที่ไม่ใช่ร้านขายของชำ ปิดอาคารวัฒนธรรมและสถานบันเทิงต่างๆ พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนแยกเลิกการเดินทางในวันหยุด ทั้งภายในประเทศและการไปต่างประเทศ