'โควิด-19' พ่นพิษ บริษัทท่องเที่ยวอาเซียนทยอยปิดตัว

'โควิด-19' พ่นพิษ บริษัทท่องเที่ยวอาเซียนทยอยปิดตัว

หลังจากที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก และมีการจำกัดการเดินทางเและมีคำประกาศเตือนจากประเทศต่างๆ มากขึ้น ธุรกิจจำนวนมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอาเซียนพากันปิดกิจการ และบริษัทจำนวนมากถึงกับล้มละลาย

รีสอร์ทแห่งหนึ่งใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัดสินใจปิดกิจการวานนี้ (16 มี.ค.) กลายเป็นรีสอร์ทรายล่าสุดที่เป็นเหยื่อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศในเอเชียลดลงอย่างฮวบฮาบ

ในจดหมายที่ส่งถึงพนักงานโรงแรมบันยัน รีสอร์ท หิวหิน ผู้บริหารโรงแรมระบุว่า บริษัทไม่สามารถแบกรับความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับโรงแรมอื่นๆ อีกหลายแห่งในประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัส

วันจันทร์ (16 มี.ค.) ครบ 50 วันนับตั้งแต่กรุงปักกิ่งประกาศห้ามกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 27 ม.ค. เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการยกเลิกจองตั๋วเดินทางครั้งใหญ่ไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน อาทิ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ขณะนี้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) ประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่มีผู้คนกว่า 130,000 คนทั่วโลกติดเชื้อ และมีการจำกัดการเดินทางเและมีคำประกาศเตือนจากประเทศต่างๆ มากขึ้น ธุรกิจจำนวนมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอาเซียนพากันปิดกิจการ และบริษัทจำนวนมากถึงกับล้มละลาย

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่คาดหวังว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤติด้านสาธารณสุขทั่วโลกครั้งนี้แล้ว ความต้องการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัว เหมือนกรณีที่เคยเกิดโรคซาร์สระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน ด้วยเหตุนี้บริษัทขนาดใหญ่ต้องพยายามอยู่ให้รอดท่ามกลางภาวะขาลงด้วยการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร เป็นนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ยังมีหนี้กับธนาคารส่วนใหญ่กำลังเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอพักชำระหนี้

“ตอนนี้ทุกคนพยายามประคองธุรกิจให้อยู่รอดช่วงนี้ไปให้ได้ บางรายอาจจะยังคงทำธุรกิจต่อไปได้ แต่บางรายอาจไม่โชคดีและต้องเลิกกิจการไปหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายมากกว่านี้” ก้องศักดิ์ กล่าว

การท่องเที่ยว เป็นแหล่งรายได้หลักของหลายประเทศในอาเซียน โดยในปี 2562 ภูมิภาคนี้รองรับนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 30 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม โดยนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในสัดส่วนประมาณ 28% เข้าเวียดนาม 32% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนด้านการท่องเที่ยวในไทยและเวียดนามถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น 

158437943637

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อผลกระทบที่รุนแรงแก่ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว เช่น กรณีของไทย ยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศในเดือน ก.พ.ร่วงลงไป 44% จากปีก่อนหน้านี้ ส่วนเวียดนามก็ร่วงลงไป 22% ขณะที่อัตราการจองห้องพักในบาหลี ประเทศอินโดนีเซียลดลง 20% 

ส่วนธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนก็ได้รับผลกระทบหนักหน่วงไม่แพ้กัน ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีสถานประกอบการโรงแรม 8 แห่งยื่นเอกสารขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในปีนี้จนถึงกลางเดือน ก.พ. ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร 21 แห่งตัดสินใจเลิกทำธุรกิจ

เช่นเดียวกับในเวียดนาม ที่ 74% ของบริษัทเวียดนามที่บอกว่าต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายหากว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และข้อจำกัดด้านการเดินทางหรือการรวมกลุ่มยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 เดือน

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. เวียดนามระงับการเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่ากับพลเมืองจาก 8 ประเทศยุโรป เป็นการชั่วคราว โดยพลเมืองที่ถูกห้ามเข้าเวียดนามชั่วคราว มาจาก 8 ประเทศ คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งมาตรการนี้ของเวียดนามมีขึ้นหลังพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 อีก 14 รายในช่วงสุดสัปดาห์ ในจำนวนนี้ มีถึง 11 ราย เดินทางมาจากยุโรป ทำให้เวียดนามมีผู้ป่วยเป็น 30 ราย

158437939842

ที่ผ่านมา องค์การการท่องเที่ยวโลก ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางลดลง 3% และเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ และภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงระหว่าง 9.0% ถึง 12.0% เพราะมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลจีน ซึ่งจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของพลเมือง ในขณะที่หลายประเทศใช้มาตรการระงับการเข้าเมืองแบบจำเพาะเจาะจง ประกอบกับความวิตกกังวลของประชาชนที่มีต่อโรคระบาด ทำให้ความต้องการเดินทางลดลง

ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ ไประบาดหนักในยุโรปแทนจีน โดยในอิตาลี มีการระบาดในระดับรุนแรงที่สุดในทวีปยุโรป มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,809 ราย จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 24,747 ราย และรักษาหายแล้ว 2,335 ราย

สเปน มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 292 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 7,844 รายและรักษาหายแล้ว 517 ราย เป็นอันดับ 2 ของทวีปยุโรป ส่วนเยอรมนี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 รายจากจำนวนผู้ป่วยสะสม 5,813 รายและรักษาหายแล้ว 46 ราย ขณะที่ฝรั่งเศสมีผู้เสียชีวิต 127 ราย จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 5,423 ราย และรักษาหายแล้ว 12 ราย

ส่วนรัฐบาลจีนที่ตอนนี้สถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น ก็เริ่มใช้มาตรการบังคับกักตัว เป็นเวลา 14 วัน กับพลเมืองต่างชาติ ที่เดินทางด้วยเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่