กทม.ยัน 'จนท.ดับเพลิงบางอ้อ' ติดเชื้อ 1 ราย ไม่ได้ติดทั้งสถานี

กทม.ยัน 'จนท.ดับเพลิงบางอ้อ' ติดเชื้อ 1 ราย ไม่ได้ติดทั้งสถานี

กทม.ยัน "จนท.ดับเพลิงบางอ้อ" ติดเชื้อ 1 ราย หลังกลับจากสนามมวยลุมพินี สั่งกักตัวผู้ใกล้ชิด 35 คน แย้มเตรียมความพร้อม 4 โรงพยาบาลในสังกัดแล้ว

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.63 นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) แถลงผลการประชุมศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิค-19 ของกทม. ว่า กรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวสถานีดับเพลิงบางอ้อ ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสถานีนั้นไม่เป็นความจริง

จากการตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงบางอ้อ ไปร่วมกิจกรรมที่สนามมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากทราบข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อที่สนามมวย เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจึงได้เดินทางไปตรวจด้วยตนเองที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 13 มี.ค. หลังจากทราบว่ามีผลเลือดเป็นบวก จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ พร้อมกับรอผลการตรวจยืนยันจากการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 แน่นอนแล้ว กทม.ได้ส่งตัวเข้ารับการบำบัดรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นางวันทนีย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำนักการการแพทย์ได้นำผู้ติดเชื้อเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ใกล้ชิดซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 35 คน ให้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อกักกันโรคและติดตามผลตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ใกล้ชิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ 2 ราย ได้ให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง โดยสำนักงานเขตบางพลัด และสำนักอนามัย ได้ทำ Big Cleaning และฆ่าเชื้อบริเวณลานจอดรถ พื้นที่ภายในอาคาร รวมถึงจุดเสี่ยงที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ลิฟท์ ราวบันได ประตู เก้าอี้โต๊ะ และพื้นที่โดยรอบ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.เรียบร้อยแล้ว

นางวันทนีย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์นั้น กทม.ได้รับการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโรงพยาบาลราชวิถี จะเป็นแกนส่งต่อส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่ กทม.ได้จัดเตรียมไว้ 4 โรงพยาบาลๆ ละ 6 เตียง รวมทั้งหมด 24 เตียง ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลกลาง 2.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 3.โรงพยาบาลตากสิน และ4.โรงพยาบาลสิรินธร หากมีความจำเป็นที่มากกว่านี้ จะใช้โรงพยาบาลบางขุนเทียนซึ่งมีความพร้อมทางด้านกายภาพ และปัจจุบันเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยนอก โดยยังไม่เปิดรักษาผู้ป่วยใน

"กทม.ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว โดยได้เลือกศูนย์ฟื้นฟูกลางน้ำ ซึ่งมีทั้งหมด 8 อาคาร อาคารละ 4 ห้อง รวมทั้งหมด 32 ห้อง สำหรับเป็นสถานที่บำบัดรักษา" นางวันทนีย์ กล่าว

ส่วนสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลได้ประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ผู้จัดทำแอพพลิเคชั่น AOT Airports สำหรับให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนดาวน์โหลดและกรอกเบอร์โทรศัพท์ เพื่อใช้ในการติดตามตัวผู้มีความเสี่ยงกลับมาตรวจและเฝ้าระวังได้ทันท่วงที และแอพพลิเคชั่น SydeKick for ThaiFightCOVID สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านและแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเสี่ยง ซึ่งใช้ในการติดตาม เฝ้าระวังผ่านระบบ Location Tracking รู้พิกัดกลุ่มเสี่ยง เพื่อนำมาประยุกต์ให้สำนักอนามัย กทม.นำไปปรับใช้ในการควบคุมดูแลประชาชนที่ต้องกักกันตนเองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อกำหนดให้ประชาชนที่กักกันตนเอง ทำการประเมินอาการและรายงานผลให้ทราบเป็นรายวัน และสำนักงานเขตมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานจะต้องมีการพิจารณาประกอบกับระบบแอพพลิเคชั่นของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้สำนักพัฒนาสังคมและสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวได้จัดการสอนและผลิตหน้ากากอนามัยผ้าให้กับประชาชนที่สนใจโดยทำการสอน ณ สถานที่ของหน่วยงาน ดังนี้ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง ศูนย์กีฬากรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร 35 แห่ง หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน อาทิ ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ พาราไดซ์พาร์ค และอื่นๆ สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้ประชาชน เริ่มผลิตตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยจำนวนหน้ากากผ้าที่ผลิตได้นับถึงวันที่ 13 มี.ค.63 โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง สามารถผลิตได้รวมทั้งสิ้น 10,901 ชิ้น แจกจ่ายแล้วรวมทั้งสิ้น 9,919 ชิ้น สำหรับแผนการสอนทำหน้ากากอนามัยผ้า ณ สถานที่หน่วยงานรัฐและเอกชน จำนวน 99 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 78 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 7,580 คน ผลิตหน้ากากได้ 15,160 ชิ้น สำหรับนำกลับไปใช้ในครัวเรือน (2 ชิ้น/คน) อย่างไรก็ดีขอให้ประชาชนดูแลป้องกันตนเองจากโรคโควิด–19 โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน สำหรับผู้ที่ไม่ป่วยควรใช้หน้ากากอนามัยผ้า หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ

ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้ถอดบทเรียนอู่ฮั่น เพื่อนำมาจัดทำแผนป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นั้น สรุปประเด็นสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ ดังนี้ 1.ห้ามโยกย้ายประชากร 2.ห้ามรวมกลุ่มจัดกิจกรรม 3.หาผู้ป่วยและแยกออกมาให้เร็วที่สุด 4.ห้ามผู้ป่วยออกมาพื้นที่สาธารณะ 5.กำหนดความเสี่ยงของบุคคล 6.ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง 7.เพิ่มสถานที่รองรับผู้ป่วย 8.สนับสนุนปัจจัยสี่และหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วย และ 9.กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคลให้เลยพ้นระยะทางในการส่งต่อเชื้อโรค