เกษตรเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ ยกระดับแข่งขันข้าวไทย

เกษตรเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ ยกระดับแข่งขันข้าวไทย

“ประภัตร” เร่งกรมข้าวพัฒนาพันธุ์ข้าว ตั้งเป้า 2 ปีข้างหน้าส่งออกข้าวพื้นนุ่มแข่งตลาดโลก พร้อมแบ่งโซนปลูกตามประเภทข้าวเน้นวิจัยเพิ่มผลผลิตต่อไป เผย โควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องการข้าวเพืิ่มขึ้น

     นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือ “แนวทางการเร่งรัดและการขับเคลื่อนแผนงานโครงการปีงบประมาณ 2563” ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคกักตุนอาหารมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการข้าวมากขึ้น ในขณะที่ภัยแล้งคาดว่าจะกระทบกับบางพื้นที่การผลิต ทั้งหมดจะทำให้ราคาข้าวในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสของเกษตรกร

     ดังนั้นจึงให้กรมการข้าว เพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ เช่น การผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการ การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน การพัฒนาแปลงใหญ่ การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการทำนา รวมทั้งวางระบบการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด หรือผู้ส่งออกข้าวที่ต้องการข้าวพื้นนุ่ม เช่น กข79 และ PTT 03019-18-2-7-4-1 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่อยู่ระหว่างเตรียมรับรองพันธุ์

     โดยทั้ง 2 พันธุ์นี้ มีเป้าหมายว่าฤดูกาลผลิตปี 2563/64 นี้จะต้องได้เมล็ดพันธุ์อย่างน้อย 3-4 พันตัน โดยกำหนดให้แบ่งโซนปลูกในพื้นที่ภาคกลาง หลังจากนั้นในปีต่อไปจะขยายเพื่อปลูกในเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะส่งออกได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการข้าวพื้นนุ่มนั้นมีประมาณ 10 ล้านตันต่อปี เป็นความต้อการของตลาดในประเทศ 5 ล้านตัน และส่งออก 5 ล้านตัน

     “การทำนาต้องแบ่งโซนปลูกตามพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งแบ่งข้าวออกเป็น 5 ประเภทคือ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวขาว ข้าวสีต่างๆ และข้าวเหนียว ในส่วนของข้าวขาวนั้นจะเปลี่ยนให้ปลูกข้าวพื้นนุ่มให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง กรมการข้าวต้องประชาสัมพันธ์ แนะนำเกษตรกรให้รู้จักและยอมรับพันธุ์ใหม่โดยเร็ว เพื่อเร่งผลิตรวมทั้งสร้างความเข้มแข็ง ให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น “

     ทั้งนี้ปัจจุบันกรมการข้าวได้เร่งวิจัยและพัฒนาข้าวเพื่อการแข่งขันของไทยตามความต้องการของผู้ส่งออกข้าว เช่น การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จากปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ข้าวรอบที่ 1 : นาปี 666 กิโลกรัมต่อไร่ รอบที่ 2 : นาปรัง 669 กิโลกรัมต่อไร่ การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาข้าวต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนา โดยมีเป้าหมายในอีก 2 – 3 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีพันธุ์ข้าวที่สามารถรองรับการแข่งขันและตรงตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งหากไทยมีพันธุ์ข้าวที่ดี ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะคู่แข่งได้ ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการผลิตข้าวของไทย