อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ฟื้นแผน ‘พลังงานนิวเคลียร์’

อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ฟื้นแผน ‘พลังงานนิวเคลียร์’

อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เดินหน้าฟื้นฟูแผนพลังงานนิวเคลียร์แบบไม่พูดพร่ำทำเพลง เห็นได้จากข้อเสนอแก้ไขกฎระเบียบเมื่อเร็วๆ นี้

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า อินโดนีเซียเพิ่งส่งร่างกฎหมายจิปาถะว่าด้วยการจ้างงานให้สภาพิจารณา ในนั้นมีบทบัญญัติกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะสรุปรายละเอียดใน 2-3 เดือนข้างหน้า

ในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ อัลฟอนโซ คูซี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยื่นข้อเสนอการใช้พลังงานผสมของฟิลิปปินส์ต่อประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตอีกครั้ง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นเดือน ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วย ทั้งๆ ที่เคยมีการส่งร่างคำสั่งฝ่ายบริหารไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ก.พ. ตอกย้ำว่ารัฐมนตรีพลังงานต้องการได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดี

ร่างกฎหมายจิปาถะของอินโดนีเซียนั้นเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ ปี 2540 เพื่อให้สาธารณะโดยเฉพาะภาคเอกชนขอใบอนุญาตทำธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้นส่วนบทบัญญัติใหม่อื่นๆ เน้นย้ำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ในการออกใบอนุญาตทำธุรกิจให้บริษัททำเหมืองแร่กัมมันตภาพรังสี หรือพัฒนาและ/หรือปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการอนุมัติจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากกฎหมายเก่ากำหนดไว้เข้มงวดว่า ภาคเอกชนถ้าจะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ต้องเป็นหุ้นส่วนกับสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติ (บาตัน) ที่รัฐบาลควบคุมเท่านั้น

จะว่าไปแล้วอินโดนีเซียเข้าๆ ออกๆ กับแผนการนิวเคลียร์มาตั้งแต่ก่อตั้งบาตันในปี 2501 ปัจจุบัน บาตันบริหารเตาปฏิบัติกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการวิจัย 3 ตัวในอินโดนีเซีย ศักยภาพรวมกันราว 30 เมกะวัตต์ แต่สังคมต่อต้านหนักมานาน การพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ขนาดใหญ่จึงไปไม่ถึงไหน ส่วนใหญ่ประชาชนกังวลเรื่องการทุจริตและความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ อีกทั้งประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ยังเสี่ยงแผ่นดินไหวง่ายด้วย

กระนั้น ปีก่อนเริ่มมีการพูดเรื่องนิวเคลียร์ขึ้นมาอีก ส.ส.บางคนเรียกร้องให้พัฒนานิวเคลียร์ เพื่อสร้างหลักประกันว่ามีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการทำอุตสาหกรรม มีรายงานว่า เปอรูซาฮัน ลิสทริก เนการา โรงไฟฟ้าของรัฐ และทอร์คอน อินเตอร์เนชันแนล สตาร์ทอัพจากสหรัฐ วางแผนทำการศึกษาเบื้องต้นพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 500 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยใช้แร่ทอเรียมแทนยูเรเนียม

ผู้เสนอให้เหตุผลว่า นิวเคลียร์ราคาถูกกว่าพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น จึงช่วยให้อินโดนีเซียเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบันที่ 12% ได้ ปีที่แล้วอินโดนีเซียผลิตไฟฟ้าได้ 69 กิกะวัตต์ ถ่านหินยังเป็นที่มาหลัก 60% ตามด้วยก๊าซ 23% น้ำมัน 4% รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 23% ภายในปี 2568

ความขัดแย้งอยู่ที่อารีฟิน ทาสริฟ รัฐมนตรีพลังงานอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างฟังคำอภิปรายของ ส.ส.เมื่อเดือน ม.ค.ว่า นิวเคลียร์เป็นตัวเลือกสุดท้ายในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ แต่เมื่อร่างกฎหมายจิปาถะมีบทบัญญัติใหม่เรื่องนิวเคลียร์เข้ามาด้วยทำให้เกิดข้อสงสัย

ในฟิลิปปินส์ รัฐบาลสนใจพลังงานนิวเคลียร์หลังกระชับสัมพันธ์กับรัสเซียตอนที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตไปเยือนกรุงมอสโก เมื่อเดือน ต.ค. 2563 รัสเซียเสนอโครงการนิวเคลียร์ให้พิจารณา คูซีกล่าวเมื่อปีก่อนว่า บรรษัทพลังงานปรมาณูโรซาตอม จะศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นเรื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก

ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่ฟิลิปปินส์นำกลับมาพิจารณาใหม่คือ การคืนชีพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่เดิมบนคาบสมุทรบาตาอันทางตะวันตกของกรุงมะนิลา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สร้างเสร็จแล้วเพียงแห่งเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส แต่เขาถูกโค่นจากอำนาจเสียก่อน ประกอบกับเกิดหายนะนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 รัฐบาลมะนิลาจึงปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไปก่อนจะได้ใช้ รัสเซียแนะนำว่า ถ้าจะใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บาตาอันก็ต้องซ่อมแซม 3-4 พันล้านดอลลาร์

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ค่าไฟฟ้าแพงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ฤดูร้อนเกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก หรือเมื่อโรงไฟฟ้าต้องซ่อมแซมในปี 2561 ไฟฟ้าที่ฟิลิปปินส์ผลิตได้มาจากถ่านหิน 52% พลังงานหมุนเวียน 23% จากธรรมชาติ 21% ที่เหลือใช้น้ำมันเป็นฐาน ได้แก่ ดีเซลและกังหันก๊าซ

อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ไม่ได้เป็นแค่ 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ฝันอยากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่ามกลางความต้องการพลังงานที่พุ่งขึ้นมากและกระแสต้านถ่านหิน รวมถึงจากนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็สนใจโครงการนิวเคลียร์ด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อปี 2559 เวียดนามเตรียมแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรง แต่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติระงับไว้ในปีเดียวกัน ปี 2560 ไทยลงนามข้อตกลงกับจีนว่าด้วยความร่วมมือใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ มาเลเซียตั้งเป้ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกภายในปี 2564 แล้วขยายไปเป็นหลังปี 2573 ครั้นมหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นนายกฯ อีกครั้งในปี 2561 ประกาศว่าไม่เอานิวเคลียร์

แต่อุบัติเหตุนิวเคลียร์เมื่อปี 2554 ยังเป็นความทรงจำสดๆ ร้อนๆ สำหรับคนที่ไม่อย่างไรเสียก็ไม่เอานิวเคลียร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไม่เชื่อข้ออ้างที่ว่า นิวเคลียร์เป็นตัวเลือกที่ถูกกว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนบางชนิด โดยอ้างถึงค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดหลังเกิดอุบัติเหตุ 

“นิวเคลียร์ไม่ใช่แหล่งพลังงานที่ถูกเลย กฎหมายฉบับนี้ตีความความจำเป็นของอินโดนีเซียในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและปลอดภัยไปในทางที่ผิด ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น เริ่มไม่เอาพลังงงานนิวเคลียร์ แต่อินโดนีเซียกำลังเดินถอยหลัง” ซาตริโอ สวันดิโก นักรณรงค์ด้านพลังงานและโลกร้อนจากกรีนพีซอินโดนีเซียกล่าวและไม่ไว้ใจแผนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากทอเรียม ที่ไม่เคยดำเนินการเพื่อการพาณิชย์เลยสักที่ในโลกว่า เป็นเกมที่เสี่ยงขาดทุนหนัก

ขณะที่ผู้สนับสนุนทอเรียมกล่าวว่า ทอเรียมปลอดภัยกว่ายูเรเนียม และมีโอกาสพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้น้อยกว่า

แดนนี โลห์ นักวิเคราะห์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนจากฟิทช์ กล่าวว่า การมีโรงไฟฟ้าบาตาอันทำให้ฟิลิปปินส์มีโอกาสดีกว่าในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้ก้าวหน้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“แต่ไม่มีทีท่าว่าการพัฒนานิวเคลียร์จะเกิดขึ้นในภูมิภาคในทศวรรษนี้ ด้วยเหตุผลที่เคยว่ากันไว้ นั่นคือต้นทุนสูงมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่) ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย และการก่อสร้างและปฏิบัติการต้องใช้เวลานาน”