'นักดนตรีเปิดหมวก' อาชีพนอกระบบ ที่ไม่ควรตกขอบสวัสดิการ

'นักดนตรีเปิดหมวก' อาชีพนอกระบบ ที่ไม่ควรตกขอบสวัสดิการ

กลุ่มแรงงานนอกระบบ มีความเป็นอิสระในการประกอบอาชีพง แต่ก็มีความไม่มั่นคงทางรายได้สูงเช่นกัน เพราะมักต้องทำงานหนักแต่ได้รับค่าจ้างต่ำ บางกลุ่มมีความเสี่ยงไม่ได้รับการจ้างงานต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงต่อความยากจนสูงกว่า และไม่มีหลักประกันทางสังคม

ในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2562 สำรวจพบว่า ในจํานวนผู้มีงานทําทั้งสิ้น 37.5ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 20.34 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 54.3 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบจำนวน 17.14 ร้อยละ 45.7 หมายความว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นการวางนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงานและเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องด้วยแรงงานนอกระบบมีความหลากหลายค่อนข้างสูง การทำความเข้าใจแรงงานนอกระบบจำเป็นต้องเจาะลึกเป็นกลุ่ม พื้นที่ หรืออาชีพ

การสำรวจแรงงานนอกระบบในโครงการสนับสนุนทางวิชาการและการจัดการความรู้แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้เลือกกรณีศึกษาแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพเล่นดนตรีเปิดหมวก จำนวน 10 ราย ในงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ในช่วงปลายปี 2562 โดยมีเป้าหมายศึกษาปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบนำมาซึ่งข้อค้นพบจุดบอดทางนโยบายทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการแห่งรัฐที่ตกหล่นคนกลุ่นนี้ไป

การสำรวจ พบว่า ผู้เล่นดนตรีเปิดหมวกเกือบทั้งหมดมีความพิการตาบอดทั้งสองข้าง หรือสูงอายุจนทำงานไม่ได้ มีเพียงกรณีเดียวที่เป็นคนอยู่ในวัยทำงานที่ไม่พิการ เกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างไม่เคยได้รับการศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งสรุปได้ว่าความด้อยโอกาสและเปราะบางของกลุ่มนักดนตรีเปิดหมวกเหล่านี้เกิดจากความพิการและการขาดการศึกษา โดยผู้วิจัยประเมินว่าสองเรื่องนี้ไม่สามารถเยียวยาได้ทันสำหรับคนรุ่นเหล่านี้

การขาดการศึกษามีส่วนอย่างมากในการจำกัดทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยนักดนตรีเกือบทั้งหมดบอกว่าไม่ชอบมาร้องเพลงเปิดหมวก พวกเขาทำเพราะไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และการเล่นดนตรีเปิดหมวกเป็นอาชีพที่เปิดเสรีแก่ทุกคน ทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถใช้ทักษะที่มีอยู่ประกอบอาชีพได้ แต่รายได้มักผันผวนในช่วงที่มีงานเทศกาลมีรายได้ 100-3,000 บาทต่อวัน แรงงานเหล่านี้ต้องเดินทางบ่อยเพื่อไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีงานเทศกาล ทำให้เสียสิทธิหรือขาดโอกาสอื่นๆตามมา เช่น บางรายขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเนื่องจากอยู่ไม่เป็นที่ ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่รู้จักว่าบัตรทองคืออะไร มีอาการเจ็บป่วยก็ไม่กล้าไปพบแพทย์

รวมถึงนักดนตรีเปิดหมวกส่วนมาก มักกล่าวว่า การเจ็บป่วยของตนเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงไม่ไปพบแพทย์ อีกทั้งไม่เคยตรวจสุขภาพ เพราะเชื่อว่าตนเองไม่มีโรคประจำตัว เมื่อเจ็บป่วย รอให้หายเอง หรือถ้าเป็นมากก็จะซื้อยาทานเอง

การไม่ไปพบแพทย์ เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกแล้วอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะ stigma effect (ความรู้สึกย่ำแย่ ด้อยกว่าผู้อื่น) คือ ไม่ต้องการไปอยู่ในที่ที่มีคนมาก และคิดว่าตนเองเป็นส่วนที่คนหมู่มากอาจจะรังเกียจได้ และต้องเกรงว่าแพทย์จะคิดเงินแล้วไม่มีเงินจ่ายก็จะรู้สึกอับอายได้ ความเปราะบางทางสังคมของนักดนตรีเปิดหมวกจึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

เมื่อสำรวจไปถึงความพึงพอใจในชีวิตของนักดนตรีกลุ่มนี้ พบว่า พวกเขาให้คะแนนค่อนข้างต่ำ แต่อย่างไรก็ตามการประเมินความพึงพอใจในชีวิตอาจสรุปได้ไม่ตรงความเป็นจริงนัก เนื่องจากเมื่อให้ทุกคนประเมินความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง โดย 1 = ต่ำสุด และ 10 = สูงที่สุด ผลคือ ผู้ถูกสัมภาษณ์เกือบทั้งหมดไม่เข้าใจตรรกะของตัวเลข การให้ความพึงพอใจที่ถูกวัดเป็นตัวเลขจึงอาจมีความคาดเคลื่อน

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ทำให้พบว่า ที่ผ่านมาเรามักมีนโยบายในการช่วยเหลือคนจน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เรามักจะประสบปัญหาในการตามหาคนจนแท้จริง เช่นเดียวกับ นักดนตรีเปิดหมวกผู้เปราะบางทางสังคมนั่งทำงานอยู่กลางสี่แยกและในงานต่าง ๆ แต่คนในสังคมมองไม่เห็นเขาในฐานะของคนที่สังคมควรต้องเข้าไปพยุงขึ้นมาจากความยากจนซึ่งการสำรวจนักดนตรีเปิดหมวก 10 คนนี้ มีเพียง คนเท่านั้นที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก ครอบครัวที่มีคนรวมกันในครอบครัวทั้งหมดไม่น้อยกว่า 14 คนไม่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ชี้ให้เห็นว่าโครงการตามหาคนจนในระดับประเทศขาดประสิทธิภาพในการจัดการให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามเป้าหมาย

  • เราสามารถปรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เปราะบางในสังคมได้อย่างไร?

สำหรับนักดนตรีที่พิการมักได้รับเบี้ยคนพิการอยู่แล้ว แต่การช่วยเหลือเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เป็นหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนพอที่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับความเปราะบางของประชาชนในพื้นที่ การช่วยเหลือคนเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินมากเกินไปกว่าความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะจ่ายได้ หรือถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีรายได้น้อย ก็ควรให้ท้องถิ่นที่ร่ำรวยกว่าสามารถโอนรายได้ของท้องถิ่นไปช่วยท้องถิ่นที่ยากจนเพื่อช่วยเหลือได้ทั่วถึงทุกพื้นที่

กลไกการเข้าถึงบริการสุขภาพเชิงรุกเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ควรสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เมื่อแรงงานผู้เปราะบางไม่สามารถเดินทางไปหาระบบดูแลสุขภาพ เราน่าจะออกแบบให้ระบบสุขภาพเดินทางมาหาแรงงานผู้เปราะบาง เป็นการทำงานเชิงรุกที่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยเรื้อรังที่มักมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการป้องกัน เช่น มีจุดให้บริการตรวจสุขภาพในงานเทศกาลหรือตลาดนัด มีผู้เดินสำรวจคัดกรองคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ เป็นต้น

ภาครัฐควรมีนวัตกรรมในการจ้างแรงงานเหล่านี้ เช่น การใช้นโยบายอุดหนุนค่าจ้างให้แก่สถานประกอบการที่จ้างผู้พิการที่มีความสามารถ เนื่องจากมีผู้พิการบางรายมีทักษะมากพอที่จะประกอบอาชีพได้ เช่น บางรายมีทักษะการร้องเพลงได้ดี หรือบางรายมีความสามารถด้านกีฬา ในฐานะนักกีฬาพิการทีมชาติไทย เป็นต้นแม้นโยบายลักษณะนี้จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่ำ แต่ความคุ้มค่าทางสังคมย่อมสูงกว่า ภาครัฐควรรวบรวมข้อมูลผู้พิการที่มีความสามารถเหล่านี้ส่งต่อให้บริษัทเอกชน เพื่อจ้างผู้พิการทำงานตามนโยบายของรัฐได้ แม้ว่าแนวทางนี้จะมีการทำอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนผู้เปราะบางอีกมาก

จากกรณีศึกษาแรงงานนอกระบบผู้เปราะบางเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงการศึกษาของคนทุกคน และการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการ อย่างไรก็ดี สำหรับแรงงานเปราะบางที่มาถึงวัย 80 ปี ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะเรียนรู้อาชีพใหม่จึงต้องมีกลไกของสวัสดิการสังคมที่ดีพอที่จะเข้าไปคุ้มครองผู้เปราะบางเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังควรมีกลไกที่เข้มแข็งช่วยคุ้มครองลูกหลานผู้เปราะบางไม่ให้สืบสานความเปราะบางจากรุ่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อีกด้วย